10 ม.ค.-ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีผลอย่างเป็นทางการมากว่า 1 ปีเต็มแล้ว แม้ประชาชนระดับรากหญ้าอาจไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ความพยายามที่จะทำให้อาเซียนเป็นปึกแผ่นยิ่งขึ้นก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ไม่เว้นแม้แต่ด้านศาสนา
จังหวัดเกาะกงเคยเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย เรียกว่า “ประจันต์คีรีเขตต์” จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการแบ่งเขตแดนไทย-กัมพูชาใหม่ จึงยังมีคนไทยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมจนถึงทุกวันนี้
อดีตที่ผ่านมาเนิ่นนาน บวกกับการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานของผู้คนทั้งเข้าและออก ทำให้ชุมชนในจังหวัดเกาะกง เหลือคนไทยพลัดถิ่นอยู่เป็นสัดส่วนน้อยลง แต่ยังคงมีร่องรอยประวัติศาสตร์ให้พบเห็นได้ไม่ยาก เช่น โบสถ์หลังเก่าของวัดปากคลองที่เคยถูกทิ้งร้างตั้งแต่ยุคเขมรแดง และเพิ่งได้รับการบูรณะขึ้นใหม่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา
บทสวดมนต์ภาษาบาลีที่แม้มีสำเนียงแตกต่างไปบ้าง แต่ยังฟังคุ้นเคยได้เป็นส่วนใหญ่ สะท้อนศรัทธาของผู้คนที่มีต่อพระพุทธศาสนาไม่เสื่อมคลาย ยิ่งเมื่อได้พระภิกษุที่เคารพนับถือมาเป็นศูนย์รวมจิตใจ ทำให้วัดและชุมชนยิ่งใกล้ชิดกันมากขึ้น
แม้อายุยังไม่มาก แต่มีศักดิ์เป็นหลานแท้ๆ ของหลวงปู่หมึก อดีตพระเกจิที่ชาวบ้านทั้งฝั่งเกาะกง และฝั่งคลองใหญ่ จังหวัดตราด เคารพนับถืออย่างมาก อีกทั้งเป็นลูกครึ่งไทย-เขมร และมีเครือญาติเป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมืองทั้งสองประเทศ พระเดชกุลพระครูธีอำพลิ ปิยธมฺโม จึงสามารถรวบรวมแรงศรัทธาจากทั้งชาวไทยและเขมรมาช่วยฟื้นฟูวัดปากคลอง ที่หลวงปู่หมึกสร้างไว้ อยู่ห่างจากชายแดนบ้านหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด เพียง 14 กิโลเมตร ขึ้นมาใหม่ได้
ล่าสุดกำลังมีโครงการที่จะสร้างเศียรพญานาคขนาดใหญ่ไว้ที่วัดฝั่งกัมพูชา และมีส่วนหางอยู่ที่วัดฝั่งไทย ให้เป็นสัญลักษณ์เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และยังเป็นการใช้ศาสนา ขยายผลนำไปสู่การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการค้าการขาย
มูลนิธิปิยธมฺโมของพระเดชกุลพระครูธีอำพล ยังได้นำความช่วยเหลือจากคนไทยมายังประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งกลุ่มเด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสในสังคม
รวมถึงมีส่วนช่วยดึงการลงทุนจากฝั่งไทย มาสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้มิตรประเทศใกล้ชิดได้อีกทางหนึ่งด้วย. -สำนักข่าวไทย