ศวปถ.เสนอหน่วยงานเพิ่มบทลงโทษชนคนใช้ทางม้าลาย

กรุงเทพฯ 24 ม.ค.-ศวปถ.วอนให้เหตุการณ์บิ๊กไบค์ชน “หมอกระต่าย” เป็นเคสสุดท้าย เสนอหน่วยงานรับผิดชอบ “เน้นกำกับเข้มข้นต่อเนื่อง” เพิ่มบทลงโทษชนคนใช้ทางม้าลาย ชี้เป็นความผิดรุนแรงกว่าขับรถโดยประมาท ย้ำต้องแก้ปัญหาอย่างจริงจัง


จากเหตุการณ์ที่ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย ประสบอุบัติเหตุถูกรถบิ๊กไบค์ชน ขณะกำลังเดินข้ามทางม้าลาย บริเวณถนนพญาไท หน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ กรุงเทพฯ บาดเจ็บสาหัส ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการขับขี่ที่ไม่เคารพกฎจราจร โดยเฉพาะบริเวณทางม้าลายที่ตามกฎหมาย ควรชะลอความเร็ว เพื่อให้ทางสำหรับคนข้ามถนน หรือรอให้คนข้ามถนนก่อน จึงค่อยขับรถผ่านไปได้

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า แต่ละปีมีคนไทยจำนวนมากได้รับผลกระทบความสูญเสียจากการข้ามถนน ข้อมูลผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของกระทรวงสาธารณสุขปี 2559-2561 ระบุว่า จำนวนผู้เสียชีวิตเป็นคนเดินถนนร้อยละ 6-8 หรือเฉลี่ย 800-1,000 ราย ในแต่ละปี และถ้าดูข้อมูลที่รวบรวมโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ก็พบว่าคนเดินถนน ประสบเหตุถึง 2,500-2,900 รายต่อปี โดยกว่า 1 ใน 3 เป็นพื้นที่กรุงเทพฯ เฉลี่ย 900 รายต่อปี มีปัจจัยความเสี่ยงที่สำคัญคือ 1.ถนนมีลักษณะหลายช่องจราจร เวลาข้ามถนนต้องใช้ระยะเวลาอยู่บนถนนนาน และแม้จะมีบางช่องจราจรหยุด แต่ช่องจราจรด้านในมักจะไม่หยุด 2.เมื่อมีคนข้าม รถในช่องทางชะลอหรือหยุดแต่ช่องจราจรขวาสุดที่ขับขี่ด้วยความเร็วมักไม่ได้ชะลอและอาจมองไม่เห็นกันทั้งสองฝ่าย ทำให้จุดนี้เป็นอีกจุดอันตรายของการข้ามถนนที่มักจะมีผู้เกิดเหตุและเสียชีวิต


“ทุกครั้งที่มีข่าวความสูญเสียที่สังคมให้ความสนใจ ผู้นำและหน่วยงานกำกับจะทำงานเข้มข้นขึ้น ระยะหนึ่งเรื่องก็เงียบไป ขาดการแก้ไขอย่างจริงจัง และหลายครั้งของความสูญเสียก็สรุปสั้น ๆ เพียงความประมาท เลินเล่อ ขาดจิตสำนึก หรือด่วนสรุปเพียงคนขี่หรือคนเดินข้ามประมาท หน่วยงานที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้อง ควรต้องสร้างระบบแห่งความปลอดภัย (Safe System) ที่เป็นหลักประกันให้กับสังคม มากกว่าการสั่งการแบบเดิม ๆ โดยไม่เกิดระบบจัดการที่เป็นรูปธรรม สิ่งที่สังคมไทยจะดำเนินการควบคู่กันต้องมีระบบเฝ้าระวัง ระบบกำกับติดตาม และที่สำคัญการทวงถามความรับผิดชอบ เพื่อไม่ให้คนในสังคมต้องพบกับความสูญเสียเหมือนที่ครอบครัวของคุณหมอกระต่ายอีก” นพ.ธนะพงศ์ กล่าว

นพ.ธนะพงศ์ กล่าวต่อว่า ขอเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ดังนี้ 1.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาดำเนินการผลักดันให้ความผิดกรณีชนคนเดินบนทางม้าลาย ต้องมีข้อหา “ขับขี่โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยผู้ใช้รถใช้ถนนด้วยทุกครั้ง” พร้อมทั้งปรับปรุงฐานความผิดที่รุนแรงมากกว่าขับรถโดยประมาท เพิ่มการตรวจจับและบังคับใช้ในกรณีไม่หยุดหรือชะลอรถให้คนเดินข้ามทางม้าลาย และมีระบบกำกับติดตามประเมินผลที่สามารถทราบได้ว่ามีการดำเนินงานจริงในแต่ละพื้นที่หลังจากที่มีการสั่งการไปแล้ว 2.ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) พิจารณาดำเนินการกำหนดให้เรื่องความปลอดภัยในการข้ามถนน เป็นวาระที่ ศปถ. ในทุกระดับต้องสำรวจและมีแผนดำเนินการ พร้อมทั้งมีการกำกับติดตามความคืบหน้าและติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งรายงานผลให้ ครม. รัฐสภา และสาธารณะ รับทราบอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับรายงานความปลอดภัยทางถนนในด้านอื่น ๆ

“ศปถ. เพิ่มการสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้และความตระหนักถึงความเสี่ยง ตลอดจนส่งเสริมให้มีการเฝ้าระวังหรือแชร์ภาพ คลิป กรณีไม่หยุดให้คนเดินข้ามทางม้าลาย เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมสังคมอีกทางหนึ่ง และส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องการข้ามถนน โดยเฉพาะการคาดการณ์ความเสี่ยงของผู้ที่กำลังข้ามถนน การดึงสติการไม่ละสายตาดูมือถือ ฯลฯ ตั้งแต่เด็กและเยาวชน รวมทั้งประชาชนทั่วไป” นพ.ธนะพงศ์ กล่าว


นพ.ธนะพงศ์ กล่าวอีกว่า ข้อ 3. การแก้ไขเชิงโครงสร้างถนน โดยให้กระทรวงคมนาคม หน่วยงานท้องถิ่น และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ดูแลถนนและโครงสร้างพื้นฐาน ควรเร่งดำเนินการ ดังนี้ 3.1 ถนนที่มีทางข้ามหลายช่องจราจร ให้มีการจัดการความเร็วของรถที่ขับขี่ โดยเฉพาะในเขตชุมชน จุดข้ามทางม้าลาย ควรใช้ความเร็ว 30-40 กม./ชม. เมื่อมีคนข้าม 3.2 เพิ่มระยะเส้นหยุดหรือมีสัญลักษณ์ให้เด่นชัดสำหรับรถที่ต้องชะลอหรือหยุด เช่น เส้นซิกแซ็ก การทำสัญลักษณ์สี เพื่อให้คนข้ามหรือรถสามารถมองเห็นกันมากขึ้น ของคนข้ามทางม้าลายในแต่ละช่องจราจร 3.3 กรมการขนส่งทางบก กำหนดเรื่องการชะลอและหยุดให้คนข้ามทางม้าลายไว้ในหลักสูตรและการสอบใบขับขี่ รวมทั้งการคาดการณ์ความเสี่ยงที่จะขึ้นด้วย และข้อคิดสำคัญหนึ่งของกรณีอุบัติเหตุครั้งนี้ คือ การแชร์ถนนให้กับคนเดินเท้า ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางในกลุ่มผู้ใช้รถใช้ถนน และหวังว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงในบ้านเราที่ “ทางม้าลายจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับคนข้ามถนน”. -สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

สำนักสงฆ์หูตาทิพย์

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์”

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์” พระอ้างใช้สอนวิปัสสนากรรมฐาน เบื้องต้นอายัดไว้พิสูจน์ดีเอ็นเอ พร้อมเอาผิดหัวหน้าสำนักสงฆ์ ฐานนำศพเก็บไว้ในสถานที่ที่ไม่ใช่สุสานและฌาปนสถาน

“สนธิ” ยื่นถอด “ตั้ม-เดชา” ออกจากทนาย

“สนธิ ลิ้มทองกุล” หอบหลักฐานบุกสภาทนายความ ถอดทนายตั้ม-ทนายเดชา ออกจากทนาย ระบุ ได้รับมอบอำนาจจาก “มาดามอ้อย” แล้ว เดินหน้าเอาผิด ทนายตั้มแบบสุดซอย ไม่ให้มีคนตกเป็นเหยื่อผู้รู้กฎหมายอีก

รัสเซียยิงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ถล่มยูเครน

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย แถลงยืนยันว่ารัสเซียยิงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ถล่มภาคตะวันออกยูเครนเมื่อวานนี้ ตอบโต้ที่ยูเครนใช้ขีปนาวุธที่ได้รับมอบจากสหรัฐและอังกฤษ

ข่าวแนะนำ

โค้งสุดท้าย ศึกสองนารีชิงเก้าอี้ นายก อบจ.นครฯ

เหลือไม่ถึง 2 วันแล้ว ที่ชาวนครศรีธรรมราชจะได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ.นครฯ ศึกนี้เป็นการสู้กันเองของพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายหนึ่งต้องการรักษาฐานที่มั่นไว้ให้ได้ อีกฝ่ายต้องการเจาะฐานให้แตก เพื่อหวังครองที่นั่งการเมืองระดับชาติในสมัยหน้า

ร้อนระอุโค้งสุดท้าย ศึกชิงเก้าอี้ นายก อบจ.อุดรธานี

การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ครั้งนี้ดุเดือดเกินคาด ผู้สมัครจาก 2 พรรคใหญ่ลงชิงชัย ต่างเร่งเครื่องเต็มที่ในโค้งสุดท้าย การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 24 พ.ย.นี้ ใครจะเป็นผู้คว้าชัยชนะและสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้จังหวัดอุดรธานี ไปติดตามจากรายงาน

ความเห็นนักวิชาการ คดีทักษิณ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทย ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ขณะที่นักวิชาการชี้ว่าไม่ได้พลิกไปจากความคาดหมาย และผลจากคดีนี้ ไม่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนทางการเมือง แต่ก็ยังมีจุดเสี่ยงที่ต้องระวัง