กรุงเทพฯ 19 ม.ค. – รมช.เกษตรฯ ระบุแจ้งต่อที่ประชุมครม. ทราบถึงสถานการณ์การผลิตสุกร โดยมีข้อมูลที่ยืนยันได้ว่า จำนวนสุกรทั้งประเทศลดลงประมาณ 13% พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า มีปัจจัยอื่นแทรกแซงที่ทำให้เนื้อหมูขาดตลาดและราคาแพง ไม่ใช่เกิดจากการระบาดของโรค ASF โดยจะทำรายงานอย่างละเอียดเสนอต่อนายกรัฐมนตรีวันพรุ่งนี้
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวถึงกรณีที่ประชาชนบางกลุ่มรวมตัวที่หน้าทำเนียบรัฐบาลวานนี้ (18 ม.ค.) ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลลดราคาสินค้า ตรวจสอบการปกปิดข้อมูลโรคระบาดหมูและกักตุนสินค้า ทั้งนี้ตนเองรายงานสถานการณ์การผลิตสุกรมีชีวิตว่า จำนวนสุกรมีชีวิตปี 64 ลดลงจากปี 63 ประมาณ 13% เท่านั้น ส่วนจำนวนลูกสุกรที่เข้าขุนสัปดาห์แรกของเดือนม.ค. 65 มีประมาณ 300,000 กว่าตัวซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของปี 64 โดยมีข้อมูลยืนยันจากการแจ้งเคลื่อนย้ายสุกรเข้าโรงฆ่าซึ่งผู้เลี้ยงต้องแจ้งผ่านระบบ E-movement พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่า มีปัจจัยอื่นแทรกแซงจึงทำให้ปริมาณเนื้อหมูในตลาดลดลงจนส่งผลต่อราคา ซึ่งที่ประชุมครม. รับทราบและเข้าใจ
นายประภัตรกล่าวต่อว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแสดงความเป็นห่วงเนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบต่อทั้งผู้เลี้ยงและประชาชน จึงสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันหาสาเหตุว่า ทำไมราคาจึงปรับสูงขึ้นมาก ทั้งที่จำนวนสุกรไม่ได้ลดลงถึง 50% ตามที่ผู้เลี้ยงบางกลุ่มนำเสนอข่าวแล้วระบุสาเหตุว่า เกิดจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) โดยวันพรุ่งนี้ (20 ม.ค.) จะนำข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับการผลิตสุกรมีชีวิตและสถานการณ์โรค ASF รายงานต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งกรมปศุสัตว์กำลังรวบรวมข้อมูลทั้งหมดอยู่
ล่าสุดมีรายงานว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังตรวจสอบกรณีที่ผู้เลี้ยงรายหนึ่งในจังหวัดระยองออกมาให้ข่าวว่า ราคาสุกรหน้าฟาร์มเพียง 60 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น แต่ขายหน้าเขียงกิโลกรัมละกว่า 200 บาท พร้อมระบุว่า ผู้เลี้ยงขาดทุน แล้วกำไรอยู่ที่ใคร ซึ่งต่อมาผู้เลี้ยงออกมาให้ข่าวอีกครั้งว่า ฟาร์มของตนเองทำสัญญากับบริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (มหาชน) โดยบริษัทจัดหาลูกสุกร อาหาร และเวชภัณฑ์มาให้ โดยตกลงราคารับซื้อกลับกิโลกรัมละ 60 บาท ส่วนที่กล่าวว่า เลี้ยงมา 5 เดือนกว่า ขุนสุกรได้น้ำหนัก 130-140 ตัว แต่ยังไม่มีใครรับซื้อ ทางบริษัทแจ้งว่า อยู่ระหว่างจัดคิวรับซื้อของลูกฟาร์ม
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งดูแลกฎหมาย “เกษตรพันธสัญญา” กำลังตรวจสอบว่า สัญญาดังกล่าวเป็นธรรมต่อเกษตรกรหรือไม่ นอกจากนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดระยองยังสั่งการให้ปศุสัตว์จังหวัดร่วมกับพาณิชย์เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงด่วน เนื่องจากมีการตั้งข้อสังเกตว่า หากเนื้อสุกรขาดตลาดจริง เมื่อขุนสุกรได้น้ำหนัก 100 กิโลกรัม ควรจับขายแล้ว การชะลอเช่นนี้เป็นการดึงเวลาเพื่อเก็งกำไรช่วงตรุษจีนหรือไม่ โดยหากบริษัทใหญ่ๆ ซึ่งมีสัดส่วนการผลิตสุกรเกือบ 40% ของทั้งประเทศทำแบบเดียวกัน จะสร้างความเดือดร้อนต่อผู้บริโภค ซึ่งกรมปศุสัตว์เร่งรัดการตรวจสอบจำนวนผู้เลี้ยงและจำนวนสุกรมีชีวิตทั่วประเทศให้เสร็จโดยเร็วเพื่อป้องกันไม่ให้มีการกักตุนสุกรไว้ในฟาร์มตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี.-สำนักข่าวไทย