กรุงเทพฯ 12 ม.ค.-รมช.เกษตรฯ สั่งกรมปศุสัตว์ดำเนินมาตรการควบคุมโรค ASF อย่างเต็มประสิทธิภาพ หลังรายงานพบโรคแล้ว วานนี้ครม. อนุมัติงบกลางปี 2565 เพื่อใช้ป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคต่อเนื่อง ครอบคลุมการจ่ายค่าชดใช้กรณีทำลายสุกร ย้ำนายกฯ ห่วงใยมอบให้กระทรวงเกษตรฯ และพาณิชย์หารือร่วมกันแก้ปัญหาราคาเนื้อหมูแพงเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าว่า ในที่ประชุมครม. เมื่อวานนี้ (12 ม.ค.) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแสดงความห่วงใยปัญหาการพบโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรงในสุกรโดยมีอัตราการตายสูง จึงมอบหมายให้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ดำเนินมาตรการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรค ASF อย่างเต็มที่ตามที่กำหนดเป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2562 สำหรับมาตรการสำคัญที่เน้นย้ำคือ ให้สอบสวนโรคจากที่ตรวจพบเชื้อที่โรงฆ่า 1 แห่งเพื่อให้ทราบถึงแหล่งที่มาของสุกร แล้วพิจารณาทำลายเป็นคอกๆ ตามหลักวิชาการ แต่ขอให้ผู้เลี้ยงไม่ต้องกังวลว่า จะทำลายสุกรทั้งหมด รวมทั้งก่อนเคลื่อนย้ายสุกรจากฟาร์มเข้าโรงฆ่า ต้องมอบหมายให้ปศุสัตว์อำเภอตรวจหาเชื้อก่อนเพื่อจะไม่ทำให้โรคแพร่กระจาย
ทั้งนี้ในปี 2564 ครม. อนุมัติงบกลางเพื่อเป็นเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นในการป้องกันโรคซึ่งรวมถึงค่าชดใช้กรณีทำลายสุกรที่มีความเสี่ยงต่อโรคมาแล้ว กระทั่งเมื่อวานนี้ (11 ม.ค.) ครม. อนุมัติงบกลางปี 2565 จำนวน 574 ล้านบาทเพื่อป้องกันโรค ASF และโรคระบาดร้ายแรงในสุกรหรือหมูป่า ซึ่งจะจ่ายเป็นค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายระหว่างวันที่ 23 มี.ค. 64 – 15 ต.ค. 64 ใน 56 จังหวัดประกอบด้วย
– ภาคกลาง 10 จังหวัดได้แก่ จังหวัดปทุมธานี อ่างทอง ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อยุธยา สระบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ และสุพรรณบุรี
– ภาคตะวันออก 1 จังหวัดได้แก่ จังหวัดสระแก้ว
– ภาคตะวันตก 3 จังหวัดได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัดได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี เลย หนองบัวลำภู มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ขอนแก่น อำนาจเจริญ หนองคาย บึงกาฬ ร้อยเอ็ด นครพนม อุดรธานี มุกดาหาร สกลนคร และยโสธร
– ภาคเหนือ 12 จังหวัดได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์
– ภาคใต้ 10 จังหวัดได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ตรัง กระบี่ ระนอง นครศรีธรรมราช ชุมพร พัทลุง พังงา และสงขลา
ทั้งนี้ มีเกษตรกรที่กรมปศุสัตว์ได้ทำลายสุกรไปแล้ว 4,941 รายซึ่งยังไม่ได้รับเงินค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายรวม 159,453 ตัว เป็นเงิน 574 ล้านบาท
นายประภัตรกล่าวต่อว่า วันพรุ่งนี้ (13 ม.ค.) จะเดินทางไปยังจังหวัดขอนแก่นเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยและรายเล็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งหยุดเลี้ยงไป กลับมาเลี้ยงใหม่ โดยมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจาก “โครงการสานฝันสร้างอาชีพ ยกระดับรายได้เกษตรกร” วงเงินรวมกว่า 30,000 ล้านบาทที่เกษตรกรสามารถกู้ยืมเพื่อใช้ในการยกระดับการจัดการฟาร์มให้ได้มาตรฐาน GFM และ GAP ซึ่งมีระบบป้องกันโรคได้ ดังที่เดินทางไปส่งเสริมการเลี้ยงสุกรที่ภาคเหนือเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ส่วนที่พรรคเพื่อไทยแถลงว่า จะอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลสาเหตุจากโรค ASF นั้น เข้าใจดีว่า เป็นการทำหน้าที่ของผู้แทนราษฎรซึ่งห่วงใยประชาชน รัฐบาลพร้อมรับฟังการสะท้อนปัญหา แต่ไม่ใช่ต่อว่ากันรุนแรงอย่างเดียว ควรให้ข้อแนะนำด้วย เพื่อที่จะช่วยกันแก้ไขความเดือดร้อนทั้งของผู้เลี้ยงและผู้บริโภค.-สำนักข่าวไทย