กรุงเทพฯ 5 ม.ค.-ธ.ก.ส. หนุนเลี้ยงสุกรครบวงจร ทั้งผลิตอาหารสัตว์ การลงทุนฟาร์ม มาตรฐานป้องกันโรคระบาดผ่านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 30,000 ล้านบาท
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากปัญหาราคาเนื้อสุกรแพง เนื่องจากความต้องการของตลาด ผลกระทบของโรคระบาดร้ายแรงในสุกร ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง มีราคาแพงขึ้นอย่างมาก ทำให้เกษตรกร มีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น จึงส่งผลมายังผู้บริโภค
รัฐบาลจึงเร่งออกนโยบายแก้ไขปัญหา ทั้งการงดส่งออกสุกรมีชีวิต การงดเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมภาษี รวมทั้งการส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อทดแทนการนำเข้าเพื่อช่วยเหลือด้านราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ รวมถึงการจัดสินเชื่อพิเศษเพื่อการฟื้นฟูการผลิตสุกร ผ่าน ธ.ก.ส. เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงสุกรคุณภาพ
นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า จากปัญหาโรคระบาดในสุกร ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีผู้เลี้ยงรายใหม่ลดลง เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว ธ.ก.ส. ได้จัดเตรียมสินเชื่อพิเศษ ส่งเสริมการเลี้ยงสุกร การเพาะปลูกผลผลิต สำหรับผลิตอาหารสัตว์ และการวางระบบการเลี้ยงมาตรฐานเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงจากปัญหาโรคระบาด การเพิ่มปริมาณสุกรให้ออกสู่ตลาดได้มากขึ้น จึงเตรียมสินเชื่อวงเงินรวม 30,000 ล้านบาท ประกอบด้วย
1) สินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ สำหรับเกษตรกรรายย่อยและบุคคลในครัวเรือนที่ประสงค์จะกู้เงิน เพื่อไปลงทุนเลี้ยงสุกรหรืออื่น ๆ เพื่อเป็นการสร้างอาชีพ วงเงินกู้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย กรณีกู้เป็นค่าใช้จ่ายคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี กำหนดระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 12 เดือน (พิเศษไม่เกิน 18 เดือน) นับแต่วันกู้ กรณีเป็นค่าลงทุนปีที่ 1-3 คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี ปีที่ 4 – 5 อัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.5 ต่อปี) กำหนดระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 5 ปี โดยปลอดชำระต้นเงิน 2 ปีแรก
2) สินเชื่อ Food Safety เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนหรือเพื่อเป็นค่าลงทุนในการส่งเสริมการประกอบอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อัตราดอกเบี้ยกรณีเกษตรกร MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับ ร้อยละ 6.5 ต่อปี) กรณีผู้ประกอบการ นิติบุคคล กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือองค์กร กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตร ดอกเบี้ย MLR (ปัจจุบัน MLR เท่ากับ ร้อยละ 4.875 ต่อปี) พิเศษสำหรับผู้ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฯ หรือแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานราชการหรือเอกชน กรณีเกษตรกร ดอกเบี้ย MRR-1 กรณีผู้ประกอบการ นิติบุคคลต่าง ๆ ดอกเบี้ย MLR-0.5 ระยะเวลาชำระคืน กรณีค่าใช้จ่ายหมุนเวียน ไม่เกิน 12 เดือน (กรณีพิเศษ ไม่เกิน 18 เดือนนับแต่วันกู้) กรณีค่าลงทุน ไม่เกิน 15 ปี
3) สินเชื่อเสริมแกร่ง SME เกษตร เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนหรือค่าลงทุนในการประกอบธุรกิจ โดยมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ หรือรักษาสิ่งแวดล้อม กำหนด วงเงินกู้ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 – 2 ร้อยละ 4 ต่อปี และปีที่ 3 – 10 อัตราดอกเบี้ย MRR-1 / MLR / MOR ตามประเภทของลูกค้า (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.5 ต่อปี / MLR เท่ากับร้อยละ 4.875 ต่อปี และ MOR เท่ากับร้อยละ 6.25 ต่อปี) กรณีที่ผู้ประกอบการสามารถนำ Platform มาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจ หรือมีการรับซื้อผลผลิตเกษตรอินทรีย์หรืออาหารปลอดภัย (Food Safety) ที่มีมาตรฐานรับรองหรือรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรต้นน้ำหรือกลุ่มวิสาหกิจที่ได้รับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของต้นทุนวัตถุดิบ หรือเป็นธุรกิจที่นำหลักโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ องค์รวม (BCG Model) อย่างใดอย่างหนึ่งมาใช้จะได้รับอัตราดอกเบี้ยในปีที่ 3 – 4 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี เพิ่มอีก 2 ปี ทั้งนี้ เงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด
ปัจจุบันไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรราว 190,000 ราย กว่าร้อยละ 90 เป็นรายย่อย เลี้ยงสุกรในระบบร้อยละ 30 โดยเป็นเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. จำนวน 59, 205 ราย ขณะที่ผู้เลี้ยงขนาดกลางและรายใหญ่มีประมาณร้อยละ 3 แต่ผลิตสุกรร้อยละ 70 เลี้ยงออกสู่ตลาดเฉลี่ยปีละ 22 ล้านตัว กว่าร้อยละ 90 ใช้บริโภคภายในประเทศ เมื่อมีโรคระบาดร้ายแรงในสุกรในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แม้จะควบคุมโรคได้ดี แต่ ทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหายร้อยละ 30-40 เหลือเพียง 18 ล้านตัว และคาดว่าปี 2565 จะผลิตได้เพียง 13-15 ล้านตัว.-สำนักข่าวไทย