สุราษฎร์ธานี 19 ม.ค. – รมว.เกษตรฯ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดสุราษฎร์ธานี สั่งกรมชลฯ ระดมเครื่องมือเครื่องจักรสนับสนุนการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมและการช่วยเหลือระบายน้ำของกรมชลประทานในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีความห่วงใยพี่น้องชาวภาคใต้ที่ยังคงมีบางพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัย จึงมอบหมายให้กรมชลประทาน ระดมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และเครื่องจักรเครื่องมือต่าง ๆ ลงไปสนับสนุนการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ต่างๆ ให้เข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด
นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีปัจจุบันคงเหลือน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำประมาณ 30,000 – 40,000 ไร่ ปริมาณน้ำท่วมขังประมาณ 150 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการระบายน้ำออกสู่ทะเลผ่านแม่น้ำพุนพินและแม่น้ำตาปี วันละ 50 – 60 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 5 – 7 วัน แนวโน้มระดับน้ำในแม่น้ำตาปีลดลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ รัฐมนตรีเกษตรฯ ได้เดินทางไปติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณคลองบางกล้วยใหญ่ หมูที่ 2 ตำบลคลองน้อยเป็นจุดที่กรมชลประทานติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ เพี่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ตำบลคลองน้อย เนื่องจากคลองบางกล้วยใหญ่จะรับน้ำที่ไหลมาจากคลองน้อย ซึ่งคลองน้อยจะรับน้ำที่เอ่อล้นมาจากแม่น้ำพุนพิน เนื่องจากมีระดับน้ำต่ำกว่า ทำให้น้ำในคลองน้อยเอ่อล้นตลิ่งตลอดทั้งลำน้ำ จึงต้องเร่งระบายน้ำในคลองบางกล้วยใหญ่ด้วยเครื่องผลักดันน้ำ เพื่อให้น้ำในคลองบางกล้วยใหญ่ไหลออกไปสู่ทะเลเร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยดึงน้ำและลดระดับน้ำในคลองน้อย ส่งผลให้น้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำระบายลงคลองน้อยได้สะดวกมากขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนี้ ยังได้เดินทางไปติดตามการเร่งระบายน้ำที่สะพานข้ามแม่น้ำพุนพิน ตำบลศรีวิชัยบริเวณถนนหมายเลข 2007 เป็นจุดที่กรมชลประทานติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำพุนพินตอนบน ซึ่งเดิมได้มีการติดตั้งเรือผลักดันน้ำของกองทัพเรือไว้แล้ว เพื่อเร่งระบายน้ำออกสูทะเลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น แต่เมื่อใช้เรือผลักดันน้ำลงมาทางตอนล่างกลับทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำพุนพินสูงขึ้นจนเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ตอนล่าง จึงต้องเปลี่ยนมาติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำบริเวณดังกล่าวแทน เพื่อช่วยไม่ให้น้ำเอ่อล้นตลิ่งและลดผลกระทบความเดือดร้อนของประชาชนบริเวณ 2 ฝั่งของแม่น้ำพุนพิน บริเวณตำบลคลองน้อยและตำบลลีเล็ตอย่างมาก
สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี นั้น กรมชลปะทานมีโครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการศึกษาพิจารณาโครงการไว้แล้ว อาทิ โครงการอ่างเก็บน้ำปากหมก ความจุ 19 ล้านลูกบาศก์เมตร บรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่อำเภอไชยา และเป็นแหล่งน้ำต้นทุนไว้ใช้ฤดูแล้ง สนับสนุนพื้นที่การเกษตรได้กว่า 21,000 ไร่ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองท่าทอง ความจุ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร บรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำท่าทอง อำเภอกาญจนดิษฐ์ และอำเภอดอนสัก เป็นแหล่งน้ำต้นทุนไว้ใช้ฤดูแล้ง สนับสนุนพื้นที่การเกษตรได้กว่า 37,500 ไร่ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองตาล ความจุ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร บรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่อำเภอเวียงสระ ช่วยตัดยอดน้ำในลุ่มน้ำตาปี และเป็นแหล่งน้ำต้นทุนไว้ใช้ฤดูแล้ง สนับสนุนพื้นที่การเกษตรได้16,000 ไร่ โครงการแก้มลิงทุ่งปากขอ พื้นที่ประมาณ 9,000 ไร่ ตั้งอยู่อำเภอบ้านนาเดิม แหล่งน้ำต้นทุนไว้ใช้ฤดูแล้งและเพิ่มระดับน้ำใต้ดิน รวมทั้งช่วยบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำตาปีได้ส่วนหนึ่งด้วย.-สำนักข่าวไทย