13 ธันวาคม 2564
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย: Politifact (สหรัฐอเมริกา)
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: พีรพล อนุตรโสตถิ์, อดิศร สุขสมอรรถ
ประเภทข่าวปลอม: ทำให้เข้าใจผิด
บทสรุป:
- ยังไม่มีรายงานพบว่าการติดเชื้อไวรัสโอไมครอนเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจหรือไม่
- ผู้เชี่ยวชาญยังไม่อาจสรุปว่าไวรัสโอไมครอนจะส่งผลแตกต่างจากสายพันธุ์อื่นๆ เช่นไร
- การติดเชื้อโควิด 19 เสี่ยงเป็นโรคหัวใจมากกว่าการฉีดวัคซีน
ข้อมูลที่ถูกแชร์:
มีข้อมูลเท็จเผยแพร่ผ่านทาง Facebook ในสหรัฐอเมริกา โดย Alberta Nationals เว็บไซต์ที่นำเสนอเนื้อหาต่อต้านการฉีดวัคซีนอ้างว่า วงการแพทย์จัดให้โรคหัวใจเป็นหนึ่งในอาการที่พบในผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์โอไมครอน เหตุผลเพื่อต้องการปกปิดปัญหาโรคหัวใจที่เกิดจากการฉีดวัคซีนโควิด 19
FACT CHECK: ตรวจสอบข้อเท็จจริง:
จากการตรวจสอบโดย Politifact พบว่า ยังไม่มีรายงานที่พิสูจน์ได้ว่าไวรัสโอไมครอนเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดโรคหัวใจ
ดร.แองเจลิค โคทซี แพทย์จากประเทศแอฟริกาใต้ หนึ่งในผู้ค้นพบไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์โอไมครอน กล่าวต่อสำนักข่าว The Telegraph ว่า อาการคนไข้ที่ติดเชื้อโอไมครอนมีความแตกต่างและไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับผู้ติดเชื้อสายพันธุ์อื่นๆ ที่เธอเคยให้การรักษา แต่เธอกังวลว่าไวรัสโอไมครอนอาจจะส่งผลกระทบที่รุนแรงยิ่งกว่ากับผู้สูงอายุที่ยังไม่ฉีดวัคซีนและมีโรคประจำตัวเช่นเบาหวานหรือโรคหัวใจ
อย่างไรก็ดี ดร.แองเจลิค โคทซีไม่ได้บอกว่าไวรัสโอไมครอนจะทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ
ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่า ยังคงต้องใช้เวลาวิเคราะห์อีกซักพัก ก่อนจะยืนยันได้ว่าไวรัสโอไมครอนจะทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการเช่นไรและก่อให้เกิดความรุนแรงของโรคเพียงไร
เบน คาวลิง นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัย University of Hong Kong ให้สัมภาษณ์ต่อนิตยสาร National Geographic ว่า ขณะนี้ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะระบุได้ว่าความรุนแรงของไวรัสโอไมครอนแตกต่างจากโควิด 19 สายพันธุ์อื่นๆ อย่างไร
ดร.แมทธิว ลอเรนส์ จากศูนย์ Center for Vaccine Development and Global Health คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย University of Maryland ย้ำว่าการศึกษาลักษณะของไวรัสโอไมครอนยังอยู่ในระยะเริ่มต้น และยังไม่พบว่าไวรัสโอไมครอนมีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ยืนยันได้ในตอนนี้คือการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 มีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจ เช่นโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และยังก่อให้เกิดอาการหลอดเลือดอักเสบและอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ดร.แมทธิว ลอเรนส์จึงลงความเห็นว่า ไวรัสโอไมครอนอาจจะทำให้ผู้ติดเชื้อมีความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจไม่ต่างจากการติดเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์อื่นๆ
หน่วยงานป้องกันโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) ติดตามรายงานการเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื้อหุ้มหัวใจอักเสบในกลุ่มผู้รับวัคซีนโควิด 19 ของบริษัท Moderna และ Pfizer อย่างใกล้ชิด ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มีการตอบสนองต่อการรักษาที่ดีและหายป่วยในเวลาไม่นาน
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ยังลงความเห็นว่า การติดเชื้อโควิด 19 เพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจมากกว่าการฉีดวัคซีนโควิด 19
แถลงการณ์จากองค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2021 ระบุว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ไวรัสโอไมครอนจะก่อให้เกิดการแพร่ระบาดไปทั่วโลก แต่ยังมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาอีกหลายประเด็น ทั้งผลกระทบต่อประสิทธิผลของวัคซีน, ความรวดเร็วของการแพร่ระบาด, รวมถึงลักษณะของโรคและความรุนแรงของโรค
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.politifact.com/factchecks/2021/dec/02/blog-posting/heart-complications-arent-yet-listed-symptom-omicr/
- หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
- LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
- FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
- Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
- IG :: https://instagram.com/SureAndShare
- Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
- TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter