กรุงเทพ ฯ 20 ม.ค. – ผู้ว่าฯ ธปท.ชี้เศรษฐกิจการเงินไทยผันผวนสูง แนะรัฐปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของโลก 4 ด้าน หากปรับตัวไม่ทันจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษ “เศรษฐกิจการเงินไทยท่ามกลางความท้าทายในยุค 4.0” ว่า โลกกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเป็นไปในทิศทางที่คาดเดาได้ยากและมีแนวโน้มผันผวนสูงขึ้น เช่น ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งล่าสุดที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกในหลายมิติ ตั้งแต่ตลาดการเงินโลกที่ผันผวนมากขึ้นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ โลกยังมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ (Megatrends) 4 ด้านสำคัญ คือ 1.ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น
ขณะเดียวกันยังสร้างความท้าทายให้ธุรกิจบางประเภทต้องตกขบวนไปด้วย เช่น ฟิล์มถ่ายรูป เครื่องรับ-ส่งโทรสาร (FAX) และการให้บริการโทรศัพท์ทางไกล เป็นต้น 2.การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างประชากร ซึ่งหลายประเทศกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยมีข้อมูลว่าปี 2583 โลกจะมีประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี ในสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรโลก จากปี 2558 ที่ประชากรมีอายุเกิน 60 ปี มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 12 เท่านั้น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายต่อเศรษฐกิจ
3.เมืองใหม่ ซึ่งจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะทำให้เมืองรองหลายเมืองก้าวขึ้นไปเป็นเมืองใหญ่ ขณะเดียวกันแรงงานจะหลั่งไหลเข้าสู่เมืองใหญ่กลายเป็นเมืองที่มีความแออัด วิถีชีวิตที่เร่งรีบ และ 4. กฎเกณฑ์กติกาที่เป็นมาตรฐานโลก ซึ่งกฎเกณฑ์ของประเทศใหญ่จะกลายมาเป็นมาตรฐานของทั้งโลกมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบกติกาที่รวดเร็วอย่างไร้พรมแดนนี้จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ หากไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ดังนั้น การปรับตัวจึงไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ต้องทำและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวด้วยว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการเงินให้เท่าทันโลกนั้น จะต้องดำเนินการในเรื่องสำคัญ คือ 1.การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและแนวทางในการบริหารจัดการเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป้าหมายในการพัฒนาประเทศคงไม่ใช่การมุ่งให้เศรษฐกิจเติบโตได้สูงเท่านั้น แต่ต้องเป็นการเติบโตของเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ กระจายผลประโยชน์ไปอย่างทั่วถึง และมีการพัฒนาที่ยังยืน 2.การปรับกลไกการทำงานของภาครัฐ โดยจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ให้มีความทันสมัย โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ขณะเดียวกันภาครัฐควรต้องลดบทบาทที่ไม่จำเป็นลง โดยทำหน้าที่เพียงการกำกับดูแลและให้การสนับสนุนภาคเอกชนในการดำเนินธุรกิจและการแข่งขันให้มีศักยภาพมากขึ้น.-สำนักข่าวไทย