สุราษฎร์ธานี 22 พ.ย. – “พลเอก ประวิตร” ห่วงสถานการณ์น้ำในฤดูฝนภาคใต้ สั่งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานีเฝ้าระวังใกล้ชิด ล่าสุดประชุมกำหนดเกณฑ์วิกฤติ 2 ระดับ เพื่อเตรียมแผนรับมือแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที
นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติเป็นประธานการประชุมคณะทำงานด้านอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงภาคใต้ร่วมกับนายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกล่าวว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ห่วงสถานการณ์น้ำภาคใต้ เนื่องจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้นพร้อมกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณภาคใต้ตอนล่าง ส่งผลให้ภาคใต้จะมีฝนตกเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางแห่ง โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งทุกหน่วยงานร่วมกันเตรียมรับมือล่วงหน้า
นายชยันต์กล่าวต่อว่า คณะทำงานศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ ประชุมเพื่อร่วมวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์น้ำและอุทกภัย โดยที่ประชุมจะรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ ติดตามสถานการณ์มวลน้ำสูงสุด และชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงล่วงหน้า รวมถึงรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานเครือข่ายและภาคประชาชน ที่ส่งข้อมูลผ่านกลุ่มไลน์ Openchat ของศูนย์ฯ เพื่อประชุมวิเคราะห์สรุปรายงานสถานการณ์น้ำประจำวัน ในช่วงเวลา 09.30 น.
ทั้งนี้กำหนดระดับวิกฤติไว้ 2 ระดับ โดยวิกฤติระดับ 1 คือ มีฝนตกหนักจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังที่อาจส่งผลให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น จะเพิ่มการประชุมอีก 1 ช่วงคือ เวลา 17.00 น. แต่หากเกิดวิกฤติระดับ 2 คือ มีพายุหรือหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงจะติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อติดตามปริมาณฝนตกสะสม อ่างเก็บน้ำที่มีความเสี่ยง สถานการณ์น้ำท่า สถานการณ์น้ำท่วมและพื้นที่ประสบภัย การให้ความช่วยเหลือ และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงและการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ พร้อมจัดทำแผนที่เสี่ยงและแผนที่ประสบภัย เพื่อชี้เป้าพื้นที่ให้ความช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด
นอกจากนี้ จะมีการลงพื้นที่ติดตามประเมินพื้นที่เสี่ยงและติดตามพื้นที่ประสบอุทกภัยด้วย และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือน ผ่านกลไกของคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด เพื่อแจ้งไปยังอำเภอ ท้องถิ่น เครือข่าย และประชาชน พร้อมกระจายข้อมูลข่าวสารผ่านทางประชาสัมพันธ์จังหวัด สื่อโซเซียลมีเดีย กลุ่มไลน์ Openchat ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ ให้ข้อมูลข่าวสารสามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างทั่วถึง ลดผลกระทบต่อประชาชนให้เหลือน้อยที่สุด.- สำนักข่าวไทย