กรุงเทพฯ 26 เม.ย.66 – “พล.อ.ประวิตร”สั่งการเร็ว เข้ม 10 มาตรการรับมือฤดูแล้ง เร่งเก็บกักน้ำช่วงฤดูฝนให้มากที่สุด
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่าจากการติดตามผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการรับมือฤดูแล้งปี 2565 / 2566 ที่หน่วยงานต่างๆ ได้ บูรณาการการทำงานร่วมกัน พบว่า สามารถป้องกันและบรรเทาผลกระทบช่วงแล้งให้กับพี่น้องประชาชนได้เป็นอย่างดี การบริหารจัดการน้ำในภาพรวมยังเป็นไปตามแผน และอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ คาดว่าช่วงฤดูแล้งที่เหลืออีกไม่ถึง 1 เดือนจากนี้สถานการณ์ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก และน่าจะผ่านพ้นไปด้วยดี โดย สทนช. จะยังคงติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์แล้งร่วมกับหน่วยงานทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ ของพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำใน 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.การผลิตน้ำประปา 2. การเกษตรนอกเขตชลประทาน 3. กลุ่มไม้ผลที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และ 4. ด้านคุณภาพน้ำ (น้ำเค็ม) จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูแล้งนี้ สำหรับสถานการณ์พายุฤดูร้อนบริเวณตอนบนของประเทศขณะนี้ ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในแหล่งน้ำขนาดต่างๆ เล็กน้อย ดังนั้น หน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำยังคงต้องเคร่งครัดการจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามแผน จนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนซึ่งคาดว่าจะอยู่ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมนี้
ขณะเดียวกัน รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจทั้งในเรื่องสถานการณ์น้ำแล้งและน้ำท่วม จากข้อมูลที่ สทนช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กอนช.ได้รายงานสถานการณ์น้ำในปีนี้ที่คาดว่าจะมีแนวโน้มประสบปัญหาแล้ง จากปรากฎการณ์ “เอลนีโญ” ในช่วงเดือนกรกฎาคมจนกระทั่งถึงปลายปี ซึ่งอาจทำให้มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติในพื้นที่ตอนกลางของประเทศ หรือว่าอาจเกิดฝนทิ้งช่วง ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ผลกระทบต่อประชาชน ได้สั่งการให้ สทนช.เร่งหารือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้านบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพอากาศที่มีแนวโน้มปริมาณฝนน้อย รวมถึงการเร่งขับเคลื่อน 10 มาตรการรับมือฤดูแล้งปี 2565/2566 ที่มีแผนงาน โครงการรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชน ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 ด้วย
ด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมถึง 12 มาตรการรับมือฤดูฝน 2566 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ เตรียมแผนปฏิบัติการในการรองรับไว้ล่วงหน้าก่อนเข้าสู่ฤดูฝนนี้ อาทิ คาดการณ์เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงฝนทิ้งช่วงบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก ทบทวนปรับปรุงเกณฑ์ บริหารจัดการในแหล่งน้ำ/เขื่อนระบายน้ำ และจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำเชิงบูรณาการ เตรียมความพร้อม ซ่อมแซม ปรับปรุง อาคารชลประทาน ระบบระบายน้ำ โทรมาตร ให้พร้อมใช้งาน เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำ ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย และฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพปกติ รวมถึงเร่งเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝนเพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอในฤดูแล้งในปีต่อไปด้วยเช่นกัน – สำนักข่าวไทย