ทำเนียบ 13 พ.ย.-นายกฯ ประกาศการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ปี 2565 (APEC 2022) สร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง พลิกฟื้นประเทศจากโควิดไปสู่อนาคต พร้อมเชิญคนไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกัน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถ้อยแถลงถึงประชาชนไทยเพื่อประกาศการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี 2565 ภายหลังจากการรับมอบตำแหน่งจากนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าไทยได้รับมอบการดำรงตำแหน่งเจ้าภาพเอเปคในปี 2565 และจะปฏิบัติหน้าที่ตลอด 1 ปี ต่อจากนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่งที่ไทยจะเปิดตัว และขับเคลื่อนการฟื้นประเทศจากโควิดไปสู่อนาคต และแสดงความพร้อมในการต้อนรับชาวต่างชาติ ตั้งแต่ระดับผู้นำ นักธุรกิจระดับสูง สื่อชั้นนำ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่จะเดินทางมาประเทศไทยตลอดปีหน้า เอเปคเป็นเวทีส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ไทยเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ประกอบด้วยเขตเศรษฐกิจชั้นนำถึง 21 เขตเศรษฐกิจ มีจีดีพีรวมกันทั้งสิ้นกว่า 53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,700 ล้านล้านบาท และมีมูลค่าการค้ารวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยได้ประโยชน์จากการมีพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ได้ร่วมผลักดันแนวคิดใหม่ ๆ ที่ช่วยพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างครอบคลุมและยั่งยืน โดยเฉพาะการส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs การสนับสนุนบทบาทสตรีในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน การเป็นเจ้าภาพเอเปคจึงถือเป็นเกียรติ และสะท้อนความเชื่อมั่นที่สมาชิกเอเปคมีต่อไทย โดยภาคส่วนต่าง ๆ ได้ร่วมกันเตรียมการอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ภาคธุรกิจ นักวิชาการ ชุมชน จนถึงคนรุ่นใหม่ เพื่อร่วมสกัดแนวคิดและวางเป้าหมายที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อคนไทย
นายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่าไทยจะขับเคลื่อนให้เอเปคพลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกยุคหลังโควิดที่ยั่งยืนและสมดุล และทุกคนมีส่วนร่วม ผ่านแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Economy และได้ประกาศหัวข้อหลักของการประชุมเอเปคปี 2565 คือ “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ “Open. Connect. Balance.” ซึ่งมีประเด็นสำคัญ 3 ด้าน คือ 1. การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม 2. การอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน และ 3. การฟื้นฟูความเชื่อมโยง โดยเฉพาะการเดินทาง และท่องเที่ยว เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด ทั้งนี้ การประชุมแรกของเอเปค 2565 จะจัดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต ระหว่างวันที่ 1-3 ธันวาคมนี้ และจะมีการประชุมอื่น ๆ กว่าร้อยการประชุมในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศตลอดปีหน้า ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกพื้นที่
โดยนายกรัฐมนตรียังได้แสดงความยินดีกับ นายชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ชนะการประกวดโลโก้เอเปค ปี 2565 ของไทย โดยผลงานชะลอมนี้ สะท้อนความเป็นไทยจากรุ่นสู่รุ่น โดยเส้นตอกไม้ไผ่ที่สอดประสานกันมีความแข็งแรง คงทน ดังเช่นความร่วมมือของสมาชิกเอเปค
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนให้คนไทยทุกคนร่วมเป็นเจ้าภาพ และยืนยันว่ารัฐบาลจะทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถ เพื่อให้การเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ประสบความสำเร็จ สร้างประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชนและลูกหลานในอนาคตต่อไป #APEC2022THAILAND.-สำนักข่าวไทย