กรุงเทพฯ 22 ต.ค. – “นพวรรณ” โฆษกดีอีเอสฝ่ายการเมือง เผยข้อมูลจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม พบไลน์กำลังเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลยอดนิยมในการแพร่กระจายข่าวปลอม ห่วงคนไทยหลงเชื่อ เพราะไม่รู้เท่าทัน แนะผู้รับข่าวสารตรวจสอบให้รอบด้านก่อนเชื่อและแชร์
น.ส.นพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้ไลน์ในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 50 ล้านคน หรือเกินครึ่งประเทศ ดังนั้น จึงน่าเป็นห่วงว่าผู้ไม่หวังดีจะหันมาใช้ประโยชน์จากช่องทางนี้มากขึ้น เพื่อกระจายข่าวปลอม เมื่อมีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อก็เกิดการแชร์ต่อๆ กันโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ รู้ไม่เท่าทันผู้สร้างข่าวปลอม จนอาจสร้างความตื่นตระหนกในวงกว้าง และแพร่กระจายความเสียหาย
จากการสรุปผลการมอนิเตอร์ และรับแจ้งข่าวปลอมประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 15-21 ต.ค.64 โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม มีข้อความที่เข้ามาจำนวน 11,564,020 ข้อความ โดยจากการคัดกรองมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) จำนวน 217 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 114 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นข่าวเกี่ยวกับโควิด 49 เรื่อง
สำหรับช่องทางหลักๆ ที่พบจำนวนข้อความที่ต้องคัดกรองและตรวจสอบ อันดับ 1 ยังมาจากระบบ social listening มากกว่า 90% ตามมาด้วยแพลตฟอร์มโซเชียลของศูนย์ฯ ได้แก่ ไลน์ทางการ ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และเว็บไซต์ อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า ในส่วนของการมอนิเตอร์และการแจ้งเบาะแสผ่านแพลตฟอร์มโซเชียล จำนวนข้อความที่ต้องคัดกรอง และข้อความข่าวที่เข้าเกณฑ์ตรวจสอบ จะมาจากเบาะแสที่ได้จากช่องทางไลน์มากที่สุด
สำหรับข่าวปลอมที่มีคนสนใจสูงสุด 3 อันดับแรก รอบสัปดาห์ล่าสุดนี้ ได้แก่ เรื่องโครงการคนละครึ่ง ส่ง SMS ให้ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิ์สำหรับเฟส 4 เรื่องตำรวจปฏิเสธการรับแจ้งความ จากเหตุการณ์ที่ชาวต่างชาติพลัดตกบ่อน้ำพุร้อน และเรื่องพบแอปฯ ดูดเงินจากบัญชีธนาคารของประชาชน เนื่องจากข้อมูลจากธนาคารรั่วไหล มีผู้เสียหายจำนวนมาก ตามลำดับ
ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ ขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันแก้ไขปัญหาข่าวปลอม เมื่อได้รับข่าวสารข้อมูลผ่านโซเชียล ควรตรวจสอบให้รอบด้าน เลือกเชื่อ เลือกแชร์ และสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอมได้ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดังนี้ ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87. – สำนักข่าวไทย