กรุงเทพฯ 2 ก.พ. – ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุผู้บริโภคเชื่อมั่นเศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น ส่งผลดัชนีปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 74.7 ดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แต่คงต้องเฝ้าติดตามหลายปัญหายังกดเศรฐกิจไทย
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมกราคม 2560 พบว่าปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 มาอยู่ที่ระดับ 74.7 ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงปลายปี การส่งออกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับราคาการเกษตรหลายรายการ โดยเฉพาะยางพาราปรับตัวดีขึ้น และบรรยากาศการจับจ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่และตรุษจีน ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความพร้อมในการจับจ่าย แต่เป็นการปรับเพิ่มเพียงเล็กน้อย จากเดือนธันวาคม อยู่ที่ระดับ 73.7 เนื่องจากได้รับกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้ที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในภาคใต้ลดลงถึง 1.4 จุด มาอยู่ที่ระดับ 74.7 และยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากนโยบายประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้จะกระทบระยะสั้นเพียง 2-3 เดือนเท่านั้น ซึ่งจะมีผลทำให้ในไตรมาส 1 การจับจ่ายของผู้บริโภคจะยังไม่คึกคัก แต่เชื่อว่าจะปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณกลางปีของภาครัฐจะเป็นแรงหนุนเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์ส่งออกที่อาจจะชะลอตัวลงจากความกังวลของนานาชาติกับนโยบายประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ และกรณีการต้องการออกจากสหภาพยุโรป หรือ BREXIT ของอีกหลายประเทศ ซึ่งหากยังกระทบต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 2 และอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยปีนี้ไม่เป็นตามเป้าหมายที่ประเมินไว้ ซึ่งศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ คาดว่าจะอยู่ในกรอบร้อยละ 3.5-4
อย่างไรก็ตาม กรอบดังกล่าวหากจะให้เศรษฐกิจไทยเติบโตน่าจะขึ้นอยู่กับรัฐบาลไทยจะต้องใช้เม็ดเงินจากงบกลาง 190,000 ล้านบาท และงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีก 300,000-400,000 ล้านบาท โดยงบกลางจะอัดฉีดเข้าระบบในช่วงปลายไตรมาส 2 และงบลงทุนของรัฐเห็นผลในช่วงไตรมาส 3 ได้น่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตตามที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ คาดไว้ โดยปีนี้จะคาดหวังเศรษฐกิจโลกที่จะฟื้นตัวเป็นเรื่องลำบาก เนื่องจากหลังจากนี้คงต้องติดตามแนวนโยบายของผู้บริหารสหรัฐจะประกาศอะไรออกมาที่จะเป็นการกีดกันทางการค้ามากน้อยแค่ไหน
ส่วนการปรับขึ้นราคาค่าโดยสารเครื่องบิน สำหรับสายการบินต้นทุนต่ำ หรือโลว์คอสแอร์ไลน์ ตามภาษีน้ำมันที่มีการปรับขึ้นนั้น เชื่อว่าไม่กระทบต่อผู้บริโภคและอุตสาหกรรมการบินของไทย แม้จะเป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภค เนื่องจากการปรับเพิ่มเป็นไปตามแนวโน้มราคาน้ำมันที่เริ่มสูงขึ้น และแต่ละสายการบินสามารถบริหารจัดการต้นทุนต่าง ๆ ได้ รวมถึงในอนาคตจะต้องมีการปรับโครงสร้างทางภาษีอยู่แล้ว ประกอบกับขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจเริ่มมีแนวโน้มเริ่มดีขึ้น ทำให้ประชาชนเริ่มมีรายได้และการจับจ่ายดีขึ้น จึงเชื่อว่าผู้บริโภคสามารถรับได้และยังคงใช้บริการอย่างต่อเนื่อง หากเห็นว่าการเดินทางโดยเครื่องบินยังเป็นสิ่งที่จำเป็นและคุ้มค่าต่อการเดินทางไปทำธุรกิจ หรือท่องเที่ยว .-สำนักข่าวไทย