กรุงเทพฯ 11 ก.ค. -ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย.67 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 กังวลการเมือง เศรษฐกิจโดยรวมที่ฟื้นตัวช้า แถมค่าครองชีพที่ยังสูง รวมถึงปัญหาสงครามต่างประเทศ ภาคเอกชนกังวลใจเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลก แนะภาครัฐเร่งหามาตรการดูแลหนี้ครัวเรือน ค่าครองชีพแพง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนมิถุนายน 2567 ยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกลับมากังวลว่าการเมืองไทยเริ่มขาดเสถียรภาพหลังจากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของ 40 สว. เกี่ยวกับคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี และกังวลเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงและฟื้นตัวช้า เพราะยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน ประกอบกับราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน และผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางที่ยังคงยืดเยื้อบานปลาย อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวล่าช้าของเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 52.6 56.1 และ 67.9 ตามลำดับ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ในรอบ 10 เดือนทุกรายการ เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนพฤษภาคม ที่อยู่ในระดับ 54.3 57.6 และ 69.8 ตามลำดับ การที่ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่า ผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ ราคาพลังงานและค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง
ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวลดลงจากระดับ 60.5 เป็น 58.9 เป็นการปรับตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 เป็นต้นมา การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้าและค่าครองชีพสูง ตลอดจนสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน กับอิสราเอลกับฮามาสในฉนวนกาซาที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้
ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 44.1 เป็น 42.8 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวลดลงจากระดับ 68.4 มาอยู่ที่ระดับ 66.7 การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ในรอบ 10 เดือนทุกรายการ แสดงว่า ผู้บริโภคเริ่มไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นได้อย่างรวดเร็วหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันเริ่มมีความผันผวนมากขึ้นในมุมมองของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคน่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ในอนาคตอันใกล้ หากรัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและกระตุ้นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็วในต้นไตรมาสที่สี่ของปีนี้
ขณะที่ ความคิดเห็นของภาคธุรกิจ จากสมาชิกหอการค้าไทยทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ในเดือนมิถุนายน 2567 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 อยู่ที่ระดับ 54.2 แต่ยังเกินกว่าค่ากลางระดับ 50 ในทุกภูมิภาค รวมทั้งตัวชี้วัดทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจโดยรวม การบริโภค การลงทุน ภาคท่องเที่ยว ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้า การค้าชายแดน และภาคบริการดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยงทั่วไทย แต่ยังกังวลที่มาจากสงครามต่างประเทศ รวมไปถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ การเมืองในประเทศโดยเฉพาะรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนายกรัฐมนตรี หนี้ครัวเรือนที่สูง ค่าครองชีพสูง และอยากให้รัฐบาลแก้ไขไขหนี้ครัวเรือน การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจโดยรวม ซึ่งโดยรวมหลายภาคมองว่าต้องการให้รับบาลเร่งหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทุกด้านด่วน หากไม่มีมาตรการที่ชัดเจนก็เชื่อว่าโอกาสความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในเดือน ก.ค.นี้จะปรับลดลงได้อีก
อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์ฯคาดว่า เศรษฐกิจไทยแม้จะมีปัจจัยบวกดีอยู่บ้าง แต่ยังมีหลายปัจจัยที่ต้องติดตาม ดังนั้น เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 น่าจะโตใกล้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.5 %และไตรมาสที่ 3 จะต้องมีดูว่าแนวทางการเร่งเบิกจ่ายงบปี 67 จะต้องเร่งให้ก่อนจบงบปี 67 และต่อเนื่องในปี 68 ได้ก็เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 โตเกินกว่า 2 % และไตรมาสที่ 4 จะมีเม็ดเงินจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอีก 450,000 ล้านบาท แม้เม็ดเงินโครงการนี้จะลดลงไป 50,000 ล้านบาท แต่หากมีการใช้จ่ายตามกรอบที่กำหนดไว้ในช่วงปลายปี 67 ได้จะทำให้เศรษฐกิจไตรมาสที่ 4 โตอยู่ที่ 3-4 % และส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 2.8-3 % .-514-สำนักข่าวไทย