กรุงเทพฯ 22 ก.ย. –หน่วยงายวิจัยกสิกรไทย-ซีไอเอ็มบีไทย จับตารัฐบาลจีนจัดการปัญหาหนี้ “เอเวอร์แกรนด์” หากกระทบภาพรวม อาจส่งผลมาถึงการส่งออกของไทย
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่ว หากจีนสามารถชนะปัญหาฟองสบู่หนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ได้ โอกาสที่เศรษฐกิจจีนจะเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในอนาคตก็มีสูง แต่การที่เศรษฐกิจจีนเสี่ยงชะลอตัวลงในระยะสั้น นอกจากตลาดหุ้นของจีนที่มีการพักฐานแล้ว การบริโภคของคนจีนเสี่ยงชะลอในช่วงปลายปีนี้ ในกรณีที่มีการควบคุมที่มากขึ้นจนกระทบกระแสเงินสดภาคธุรกิจ การส่งออกและการนำเข้าของจีนก็เสี่ยงโตช้าลง และผลกระทบจากต่อไทยมีอยู่ 3 ด้าน คือเงินทุนไหลออกจากตลาดทุนไทย , การส่งออก ที่อาจจะชะลอลงได้ตามการส่งออกไปจีน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตร ยางพารา และอิเล็กทรอนิกส์ และการท่องเที่ยว โดยหากเศรษฐกิจจีนชะลอต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ความหวังที่จะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาไทยอาจไม่ได้มากเท่ากับที่คาดการณ์กันไว้
นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ผลกระทบจากกรณีบริษัทเอเวอร์แกรนด์ของประเทศจีนนั้น คงต้องติดตามรัฐบาลจีนว่าจะรับมือและจัดการกับปัญหา อย่างไร หากมีปัจจัยที่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจของจีนที่มีการกู้ยืมเงินมาก อาจจะส่งผลต่อภาพรวมของโลกได้ด้วย
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 64 คาดขยายตัว ติดลบ 0.5% แต่อาจปรับคาดกาณ์ GDP อีกครั้งใน ต.ค. 64 ซึ่งต้องดู หลังจากที่มีการผ่อนคลายมาตรการตั้งแต่ต้นเดือนก.ย.และจะมีการผ่อนคลายมากขึ้นจากนี้ และต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ว่าจะมีมาตรการอะไรออกมากระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในประเทศบ้าง โดยปัจจัยหนุนของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ยังคงมาจากภาคการส่งออก จากเศรษฐกิจโลกขยายตัว และเงินบาทที่อ่อนค่า ส่วนภาคการท่องเที่ยว คาดว่าจะมีท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเพียง 200,000 คนในปีนี้ ซึ่งในระยะสั้นรอดูว่าการกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศ เช่น เราเที่ยวด้วยกันเฟส 3 และอื่นๆจะช่วยเศรษฐกิจมาเพียงใด
ส่วนการขยายวงเงินเพดานหนี้สาธารณะของไทยเป็น 70%ของจีดีพี จากเดิมที่ 60%ขอจีดีพี จะช่วยทำให้ความสามารถในการใช้นโยบายการคลังเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขึ้น แต่ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และจะต้องมีการพิจารณาเกี่ยวกับฐานภาษีในอนาคตที่จะเป็นรายได้กลับมาเข้ารัฐในการนำไปชำระคืนหนี้ เพราะเพดานหนี้สาธารณะที่เพิ่มมา 70% มีระยะเวลา 10 ปี
ด้านทิศทางเงินบาท ธนาคารคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ในสิ้นปี 64 หากรัฐบาลสามารถจัดการปัญหาการระบาดของโควิด-19 และเยียวยาเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ นับว่าจะแข็งค่าขึ้น จากขณะนี้อ่อนค่าที่ประมาณ 33.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการอ่อนค่าถึง 10.3% ตั้งแต่ต้นปี ซึ่งมาจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และมีเงินไหลออก
“ การขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ทำให้ต่างชาติลดการถือครองตราสารหนี้ โดยจะเห็นว่าต่างชาติเริ่มซื้อตราสารหนี้ลดลงไปมาก จากเดิมที่ซื้อ 8.7 หมื่นล้านบาท/เดือน ซึ่งยิ่งทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงอีก และยังต้องติดตามนโยบายการเงินของประเทศขนาดใหญ่ในโลกช่วงนี้ว่าจะมีการดำเนินนโยบายการเงินอย่างไรต่อไป หลังจากทิศทางเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นมาก ซึ่งอาจมีผลกดดันต่อค่าเงินบาทได้ในระยะสั้น แต่หากจัดการโควิดได้ดี กระตุ้นเศรษฐกิจ สิ้นปีเงินบาทก็จะแข็งค่าขึ้น” นายกอบสิทธิ์กล่าว .-สำนักข่าวไทย