TNA News-Now-Next: “เอเวอร์แกรนด์” ผลพวงหรือต้นตอวิกฤติอสังหาฯ จีน

ปักกิ่ง 29 มี.ค.- กลางเดือนมีนาคม แวดวงอสังหาริมทรัพย์จีนมีข่าวใหญ่ เมื่อเอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป (Evergrande Group) และผู้ก่อตั้ง ถูกทางการจีนสั่งปรับเป็นเงินมหาศาลราว 21,000 ล้านบาท ถือเป็นความคืบหน้าสำคัญของวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างความปวดหัวให้แก่เศรษฐกิจจีน


ที่มาที่ไปของเอเวอร์แกรนด์

เอเวอร์แกรนด์เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2539 โดยนายฮุย คายัน (Hui Ka Yan) หรือที่คนทั่วไปรู้จักในชื่อ สวี่ เจียหยิ่น (Xu Jiayin) อดีตมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของจีน และ 1 ในผู้ร่ำรวยที่สุดของเอเชีย ปัจจุบันอายุ 65 ปี


นายฮุย ปี 2559

เอเวอร์แกรนด์ทำรายได้มหาศาลจากการขายห้องชุดหรืออพาร์ตเมนต์แบบพรีเซลล์หรือการขายล่วงหน้าให้กับชาวจีนที่มีรายได้สูงไปจนถึงปานกลาง  โดยได้รับการจัดอันดับในปี 2561 ให้เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก แต่ถัดมาเพียง 3 ปีในปี 2564 เอเวอร์แกรนด์กลับกลายเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีหนี้สินมากที่สุดในโลก โดยมีหนี้สินมากกว่า 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 10.9 ล้านล้านบาท) และมีสินทรัพย์ 240,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 8.76 ล้านล้านบาท)  สินทรัพย์ร้อยละ 90 อยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่

หนี้สินที่ล้นพ้นตัว ทำให้โครงการอสังหาริมทรัพย์หลายโครงการหยุดชะงัก ไม่สามารถสร้างต่อให้เสร็จ บริษัทเอเวอร์แกรนด์พยายามดิ้นรนปรับโครงสร้างหนี้ และได้ยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาลในแมนฮัตตันของสหรัฐในเดือนสิงหาคม 2566 จากนั้นในเดือนกันยายน นายฮุย ผู้เป็นซีอีโอถูกทางการจีนจับกุมและถูกสอบสวนในคดีอาญาฐานต้องสงสัยว่าก่ออาชญากรรมที่ผิดกฏหมาย

จุดจบของเอเวอร์แกรนด์


เอเวอร์แกรนด์มาถึงจุดจบเมื่อศาลฮ่องกงมีคำสั่งในเดือนมกราคมปีนี้ให้เอเวอร์แกรนด์เลิกกิจการและขายทรัพย์สินเพื่อชำระบัญชี หลังจากบริษัทไม่สามารถปรับโครงสร้างหนี้ให้กับเจ้าหนี้

โครงการบนเกาะไหหลำที่ต้องถูกรื้อทิ้ง

และเมื่อวันที่ 19 มีนาคม คณะกรรมการกํากับดูแลหลักทรัพย์ของจีนได้ลงดาบด้วยการสั่งปรับเอเวอร์แกรนด์และนายฮุยเป็นเงินมากถึง 583 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 21,000 ล้านบาท) ด้วยข้อหาสั่งการให้พนักงานของเหิงต้า ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่อยู่ในจีน ให้ตกแต่งรายงานผลประกอบการประจําปี 2562 และ 2563  จนสูงเกินจริงไปถึง 78,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.8 ล้านล้านบาท) ในช่วงเวลา 2 ปีก่อนที่เอเวอร์แกรนด์ผิดนัดชำระหนี้ รวมทั้งได้ปรับนายฮุยเป็นเงิน 6.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 236 ล้านบาท) และห้ามนายฮุยทำธุรกิจในตลาดทุนจีนตลอดชีวิต

จุดเริ่มต้นของปัญหา

เอเวอร์แกรนด์เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชื่อกระฉ่อนที่สุดในบรรดาบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายสิบแห่งของจีนที่มีปัญหาผิดนัดชําระหนี้ นับตั้งแต่รัฐบาลจีนเริ่มมาตรการกวาดล้างการปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคอสังหาริมทรัพย์มากจนเกินไปในปี 2563 เป็นนโยบายที่มีชื่อว่า “เส้นสีแดงสามเส้น” หรือ “three red lines” หวังชะลอการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่การเติบโตร้อนแรงเกินไป  โดยได้วางมาตรการเข้มงวดเรื่องวงเงินขอสินเชื่อ ทำให้บริษัทเหล่านี้ไม่สามารถกู้ยืมเงินเพื่อชำระหนี้เจ้าหนี้และลูกค้า นำมาซึ่งการผิดนัดชำระหนี้ และทำให้ฐานะทางการเงินของเอเวอร์แกรนด์ร่วงจากมีมูลค่าสูงสุดเป็นติดหนี้มากที่สุดภายในเวลาเพียง 3 ปี

จีนถูกมองมานานแล้วว่า มีสภาพเศรษฐกิจที่ไม่สมดุลและพึ่งพาสินเชื่อมากเกินไป และภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่มีหนี้สินมากที่สุด โดยมีเอเวอร์แกรนด์ก็เป็นบริษัทที่มีมูลค่าหนี้มากที่สุดในธุรกิจนี้ ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การล่มสลายของเอเวอร์แกรนด์ไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้กับนักลงทุนในประเทศหรือทั่วโลก เพราะพวกเขารู้อยู่แล้วว่าเหตุการณ์นี้จะต้องเกิดขึ้น

โมเดลการทำธุรกิจของเอเวอร์แกรนด์ก็เหมือนกับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายอื่น ๆ ในจีนที่มีรูปแบบการขายแบบพรีเซลล์หรือการขายล่วงหน้า เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่มีความเสี่ยงรออยู่ข้างหน้าแต่ก็สามารถทำให้ชาวจีนจำนวนไม่น้อยนำเงินมาลงทุนกับที่พักอาศัยโดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าบ้านจะสร้างเสร็จเมื่อใด

ผลกระทบของเอเวอร์แกรนด์

ชาวจีนนำทรัพย์สินไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ไปลงทุนในอพาร์ตเมนต์ การล่มสลายของเอเวอร์แกรนด์จึงสร้างความเสียหายให้กับหลายคน ผู้ลงทุนกับเอเวอร์แกรนด์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ซื้อเพื่อพักอาศัยหรือสถาบันการเงินจะต้องรอให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยและจัดลำดับผู้ที่จะได้รับเงินเมื่อเอเวอร์แกรนด์เลิกกิจการและขายทรัพย์สิน

นักลงทุนไปชุมนุมหน้าสำนักงานเอเวอร์แกรนด์

ภาคอสังหาริมทรัพย์ครองสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 4 ของธุรกิจทั้งหมดในจีน วิกฤตหนี้ของภาคอสังหาริมทรัพย์จึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนเป็นวงกว้าง เพราะกระทบไปถึงธุรกิจก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง ของตกแต่งบ้าน และอื่น ๆ ขณะเดียวกันราคาที่อยู่อาศัยที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เจ้าของบ้านขาดทุนจากการลงทุนและต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด นอกจากนั้นปริมาณการซื้อขายที่ดินที่ลดลงทําให้รัฐบาลท้องถิ่นขาดรายได้จากการเก็บภาษีและรายได้อื่น ๆ ส่งผลให้รัฐบาลท้องถิ่นมีหนี้สูงขึ้นตามไปด้วย

เอเวอร์แกรนด์ไม่เหมือนเลห์แมน บราเธอร์ส

การล้มละลายของเอเวอร์แกรนด์ถูกนำไปเปรียบเทียบกับการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส บริษัทบริการการเงินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ซึ่งนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ในสหรัฐ เลห์แมน บราเธอร์สถูกฟ้องล้มละลายในวันที่ 15 กันยายน 2551 โดยมีหนี้สินมากถึง 613,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 22 ล้านล้านบาท) ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของสหรัฐที่อยู่ในภาวะถดถอยอยู่แล้วให้เข้าสู่ภาวะดิ่งเหว

การล่มสลายของเลห์แมนส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการปล่อยสินเชื่อที่พักอาศัยแบบเสี่ยงให้แก่ผู้ซื้อ ทำให้ระบบการเงินไร้เสถียรภาพ ผู้ซื้อไม่สามารถชำระเงินที่กู้ยืมไปได้ตามกำหนด ส่งผลเป็นระลอกคลื่นไปทั่วตลาดหุ้นวอลล์สตรีทและทําให้ผู้กู้เสี่ยงที่จะถูกยึดทรัพย์ ต่างจากเอเวอร์แกรนด์ที่ปัญหาเกิดจากบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ผิดนัดชำระหนี้

นอกจากเอเวอร์แกรนด์ ยังมีคันทรีการ์เดน

คันทรีการ์เดน (Country Garden) บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เอกชนรายใหญ่ของจีนก็กำลังเผชิญกับชะตากรรมเดียวกัน โดยถูกเอเวอร์เครดิต (Ever Credit) ที่เป็นบริษัทเจ้าหนี้ยื่นฟ้องเมื่อเดือนกุมภาพันธ์เรื่องไม่ชำระหนี้จำนวน 1,600 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 7,540 ล้านบาท) คันทรีการ์เดน ซึ่งเคยผิดนัดชําระหนี้ในต่างประเทศมาแล้วในเดือนตุลาคม 2566 ประกาศว่า จะขอต่อสู้คดีอย่างถึงที่สุด ศาลได้กำหนดวันไต่สวนคําร้องครั้งแรกในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้  เหตุการณ์ของคันทรีการ์เดนเกิดขึ้นเพียงหนึ่งเดือนหลังจากบริษัทเอเวอร์แกรนด์ถูกศาลฮ่องกงสั่งให้เลิกกิจการ

โครงการของคันทรีการ์เดนที่ถูกทิ้งร้าง

TNA News-Now-Next Final Thoughts:

เอเวอร์แกรนด์กลายเป็นสัญลักษณ์ของเศรษฐกิจจีนที่เผชิญกับอุปสรรคใหญ่ในอนาคตอันใกล้ ประกอบด้วยภาวะเศรษฐกิจชะลอการเติบโต หนี้สินเพิ่มขึ้น และแรงงานหดตัว สิ่งที่เกิดขึ้นกับเอเวอร์แกรนด์ทำให้ต้องกลับมาคิดทบทวนว่า บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นต้นตอของวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนจากการก่อหนี้เกินตัว หรือเป็นผลพวงจากวิกฤตที่เกิดจากการที่รัฐบาลต้องการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ

รัฐบาลจีนตระหนักดีว่า เศรษฐกิจของประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาอาจเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนจึงพยายามที่จะส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากยกเลิกมาตรการควบคุมโควิดอย่างเข้มงวดไปแล้ว แต่เศรษฐกิจยังคงไม่ฟื้นตัวอย่างที่คิด ผู้สังเกตการณ์คาดว่าจีนอาจจะเผชิญกับภาวะเงินฝืดในอนาคตจากปัญหาต่าง ๆ ที่รุมเร้า และเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ดัชนีราคาผู้บริโภคของจีนลดลงมากที่สุดในรอบสามปี.-818(814).-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

คนขับแท็กซี่ตายคารถ กว่าจะรู้ผ่านไปหลายชม.

รถแท็กซี่จอดอยู่ป้ายรถเมล์ตั้งแต่เที่ยงจนถึงเย็น มีผู้โดยสารขึ้นรถ แล้วก็ลงมา แถมถูกบีบแตรไล่ จนพ่อค้าขายข้าวโพดต้มเข้าไปเรียกพบคนขับนอนคอพับเสียชีวิต

ถอนตัวWHO

“ทรัมป์” ลงนามในคำสั่งให้สหรัฐถอนตัวจากการเป็นสมาชิกอนามัยโลก

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐกล่าววานนี้ว่า สหรัฐจะออกจากการเป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก โดยเขาระบุว่า องค์การอนามัยโลกดำเนินการผิดพลาดในการรับมือกับโรคโควิด-19

พิตบูลขย้ำหัวพระ

“อเมริกันบูลลี่” ขย้ำหัวพระ-กัดข้อมือหาย มรณภาพคากุฏิ

สลด! หลวงพี่ เลขาเจ้าอาวาสวัด เลี้ยงอเมริกันบูลลี่ไว้ตั้งแต่เป็นลูกสุนัข ผ่านไปปีกว่า ถูกขย้ำหัวมรณภาพคากุฏิ ข้อมือขาดหายไป ยังหาไม่พบ

ข่าวแนะนำ

นายกฯ สวมกระโปรงผ้าปาเต๊ะ ร่วมประชุม WEF อวดผ้าไทยสู่สายตาโลก

นายกฯ สวมกระโปรงผ้าปาเต๊ะ จากภาคใต้ ร่วมประชุม WEF อวดผ้าไทยสู่สายตาโลก หารือผู้นำและภาคเอกชนชั้นนำของโลก

กทม.จำกัดพื้นที่ชั้นใน ห้ามรถบรรทุกวิ่ง เริ่มคืนนี้!

ผู้ว่าฯ กทม. ติดตามสถานการณ์ฝุ่น กทม. คาดสุดสัปดาห์ระบายอากาศดีขึ้น พร้อมจำกัดพื้นที่ชั้นใน ห้ามวิ่งรถบรรทุก เริ่มคืนนี้! ย้ำประชาชนช่วยสอดส่องการลอบเผา ต้นเหตุฝุ่น PM 2.5

จำคุกทนายเดชา

ศาลสั่งจำคุก 1 ปี “ทนายเดชา” ปมไลฟ์หมิ่น “อ.อ๊อด”

ศาลสั่งจำคุก 1 ปี “ทนายเดชา” คดีหมิ่น “อ.อ๊อด” ปรับ 1 แสนบาท ปมไลฟ์ด่าเสียหาย ให้รอลงอาญา โจทก์เตรียมอุทธรณ์ต่อ ขอให้ติดคุกจริง

ตรวจสอบสิทธิ์เงินหมื่น

ตรวจสอบสิทธิ์เงินหมื่นคนอายุ 60+ ผ่านแอป “ทางรัฐ” ได้แล้ว

“จิรายุ” ย้ำเงินหมื่นเฟส 2 มอบคนอายุ 60+ รัฐบาลพร้อมโอนไม่มีเปลี่ยนแปลงแล้ว วันจันทร์ที่ 27 ม.ค.นี้ แน่นอน สามารถตรวจสอบสิทธิ์ผ่านแอป “ทางรัฐ” ได้แล้ววันนี้ ส่วนคนไม่มีสมาร์ทโฟน ฝากลูกหลานช่วยด้วย