กทม. 18 ก.ย.-นพ.ภูษิต เน้นย้ำการพัฒนาสิทธิประโยชน์ระบบบัตรทองมีความจำเป็น ต้องเท่าทันความเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ด้าน สปสช. ดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น
นพ.ภูษิต ประคองสาย ที่ปรึกษาระดับกระทรวงนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านส่งเสริมสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า เทคโนโลยีทางการแพทย์ หรือการให้บริการด้านสุขภาพมีพัฒนาการและนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา ฉะนั้นการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) จึงมีความจำเป็น เพราะไม่เช่นนั้นชุดสิทธิประโยชน์จะหยุดนิ่งและไม่ทันการพัฒนาของเทคโนโลยีใหม่
นพ.ภูษิต กล่าวว่า พัฒนาการสำคัญที่ทำให้ชุดสิทธิประโยชน์มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คือการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้กำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม กลุ่มผู้ป่วย ฯลฯ เข้ามามีส่วนร่วมเสนอหัวข้อเข้ามาในชุดสิทธิประโยชน์ โดยใช้หลักฐานทางวิชาการ และหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าสิ่งที่จะผนวกเข้ามาในชุดสิทธิประโยชน์มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจ และส่งผลดีต่อสุขภาพประชาชนหรือไม่ เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ
“การที่เราให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนของการเสนอหัวข้อ พิจารณาชุดสิทธิประโยชน์ว่ามีข้อมูลหลักฐานว่ามีความคุ้มค่าในทางเศรษฐศาสตร์หรือไม่ หรือควรจะตัดสินใจที่จะนำชุดสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ เข้ามาในบัตรทองหรือไม่” นพ. ภูษิต ระบุ
นพ.ภูษิต กล่าวอีกว่า การเพิ่มสิทธิประโยชน์ หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ได้พัฒนาการใช้เทคโนโลยี-วิชาการ-ทักษะในการรักษาพยาบาล ยกตัวอย่างการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น หัวใจ ในอดีตประชาชนไม่สามารถจ่ายค่ารักษาได้ ฉะนั้นเมื่อมีเคสที่มีความต้องการปลูกถ่ายหัวใจก็ไม่สามารถรับบริการได้ แต่เมื่อมีบัตรทองเข้ามาสนับสนุนค่าใช้จ่ายก็จะทำให้มีผู้ป่วยหรือผู้บริจาคอวัยวะเข้ามาให้บุคลากรทางการแพทย์ได้รักษา เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีและทักษะทางการแพทย์อีกทางหนึ่ง
“ประโยชน์ที่ภาครัฐจะได้คือประชาชนมีสุขภาพที่ดี ส่งผลให้ประชาชนสามารถสร้างผลิตภาพ (productivity) ได้ดีขึ้น อย่าไปมองว่างบประมาณที่สนับสนุนบัตรทองเป็นภาระ เพราะจริงๆ แล้วเป็นเรื่องของการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์” นพ.ภูษิต ระบุ
ด้าน นางวราภรณ์ สุวรรณเวลา ประธานสายงานขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สิทธิบัตรทองครอบคลุมบริการทุกอย่าง ณ ตอนนี้ รายการที่ยกเว้น ยังไม่ครอบคลุมในระบบบัตรทอง เช่น ศัลยกรรมความงามที่ไม่มีเหตุผลทางการแพทย์ การผสมเทียม การบำบัดผู้ติดยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด ผู้ประสบภัยจากรถที่รับการคุ้มครองจาก พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ รวมไปถึงการรักษาที่อยู่ในระหว่างการทดลอง
นางวราภรณ์ กล่าวอีกว่า ขั้นตอนในการเสนอชุดสิทธิประโยชน์มี 4 ขั้นตอนสำคัญ ขั้นตอนที่ 1 การเสนอหัวข้อซึ่งจะมีการเปิดรับหัวข้อจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นบริการสาธารณสุข หรือเทคโนโลยีทางการแพทย์ ซึ่งจะมีการเปิดรับหัวข้อทุกปี ตั้งแต่ 1 ต.ค. – 30 ธ.ค. ผ่านทางเว็บไซต์ ขั้นตอนที่ 2 เป็นการจัดลำดับความสำคัญของหัวข้อที่มีการเสนอเข้ามา เนื่องจากหัวข้อที่ถูกเสนอมีจำนวนมาก แต่ทรัพยากร เช่น งบประมาณ หรือนักวิจัยนั้นมีจำกัด ฉะนั้นจึงต้องมีเกณฑ์ประเมินเพื่อจัดอันดับในเบื้องต้นว่าเรื่องที่ส่งเข้ามามีความสำคัญมาก-น้อยแค่ไหน และแตกต่างกันอย่างไร โดยมีคณะทำงานที่มีผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนในการพิจารณาร่วมกัน
สำหรับขั้นตอนที่ 3 การประเมินความคุ้มค่า นักวิชาการจะทำการวิจัยเพื่อประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และขั้นตอนที่ 4 นำผลการประเมินเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจของคณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์ คณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์ และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นอกจากนี้ กระบวนการสื่อสารมีทั้งขาเข้าและขาออก โดยขาเข้านั้นนอกจากจะมีการแจ้งหนังสือไปยังกลุ่มของภาคประชาชน ภาคประชาสังคม หรือเครือข่ายผู้ป่วย สปสช. มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นทั่วไปประจำปี ซึ่งผู้เข้าร่วมในกระบวนการรับฟังความเห็นทั้งประเทศสามารถเสนอประเด็นสิทธิประโยชน์ได้ ซึ่งกระบวนการนี้ทำให้ไม่เกิดการตกหล่นเนื่องจากทำทั้งประเทศ สำหรับกลุ่มอื่นๆ ก็จะมีการสื่อสารผ่านเว็บไซต์และส่งหนังสือแจ้ง ส่วนขาออกนั้นจะแจ้งด้วยการส่งหนังสือ และสื่อสารผ่านเว็บไซต์ที่จะสามารถดูข้อมูลได้ว่ากระบวนการไหนอยู่ในขั้นตอนใด
“การรับฟังความคิดเห็นประจำปีหน้าจะมีการสรุปปีที่ผ่านมาว่าที่เสนอมา ตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่บ้าง ซึ่งเป็นการคืนข้อมูลให้กับประชาชนทราบอีกทางหนึ่ง” นางวราภรณ์ กล่าว
นางวราภรณ์ กล่าวว่า จากตัวอย่างที่เพิ่งผ่านมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อเดือน ธ.ค. 2563 และประกาศเป็นสิทธิประโยชน์ในวันที่ 1 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา คือการคัดกรองการได้ยินในเด็กแรกเกิด ทางคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพฯ ให้เริ่มในเด็กที่มีความเสี่ยงสูงก่อน โดยในแต่ละปีจะมีทารกกลุ่มเสี่ยงประมาณ 30,000 คน ที่ได้รับบริการคัดกรองการได้ยิน ซึ่งตามสถิติจะมีเด็กประมาณ 900 คนที่จะพบความผิดปกติทางการได้ยิน และได้รับการดูแลรักษาทันเวลา
นอกจากนี้ เมื่อพบว่าเด็กบางคนหูหนวก-หูตึง อาจจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยฟัง แต่ขณะเดียวกันก็มีบางกลุ่มต้องผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมเนื่องจากไม่สามารถใช้เครื่องช่วยฟังได้ ซึ่งสิทธิประโยชน์ดังกล่าวใช้เวลานานถึง 10 ปีตั้งแต่ พ.ศ. 2551 ในการจัดทำข้อเสนอเข้าสู่การตัดสินใจ เนื่องจากในขณะนั้นโอกาสยังไม่เปิด
“ในช่วงนั้นพบว่าเครื่องประสาทหูเทียมมีราคาประมาณ 1 ล้านบาท ทางคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพฯ ต้องตัดสินใจว่าการใช้เงินเยอะขนาดนี้จะทำอย่างไรให้การผ่าตัดสำเร็จไปได้ด้วยดี แต่มีปัจจัยอื่น เช่น นักฝึกพูด ฝึกฟังยังมีจำนวนไม่มาก แพทย์เฉพาะทางก็อยู่ในเมืองใหญ่ๆ รวมไปถึงบางครอบครัวอาจไม่ได้ให้ความสำคัญหรือไม่ได้ฝึกเด็กต่อ ก็ทำให้มีโอกาสเสียของได้” นางวราภรณ์ กล่าว
นางวราภรณ์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้เครื่องช่วยฟังมีราคาลดลงเหลือประมาณ 3-6 แสนบาท ถ้าซื้อเยอะก็สามารถต่อรองราคาลงได้ รวมไปถึงมีนักฝึกพูด ฝึกฟัง และแพทย์เฉพาะทางที่มากขึ้น ดังนั้นบริการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมจึงได้รับการพิจารณาบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ในคราวเดียวกันซึ่งเป็นบริการที่ต่อเนื่องกับการตรวจคัดกรองการได้ยินข้างต้นด้วย.-สำนักข่าวไทย