กรุงเทพฯ 15 ก.ย. – “ศักดิ์สยาม” ประสาน 3 พลัง หน่วยงานในสังกัด ทล.-ทช.-ขบ. เร่งเครื่องนโยบายความปลอดภัยทางถนน MOU ลุยนโยบายกำหนดความเร็วช่องจราจร สูงสุด 120 กม./ชั่วโมง เฟส 3 พร้อมประกาศ ตั้งงบประมาณเพื่อพัฒนาความปลอดภัยทางถนน ครอบคลุมทั่วไทย 12,000 กม. ตั้งแต่ปี 2566 ใช้เวลารวม 4 ปี
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานสักขีพยาน ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ระหว่างกรมการขนส่งทางบก โดยนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง โดยนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท โดยนายไกวัลย์ โรจนานุกูล รองอธิบดีกรมทางหลวงชนบท รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทางหลวงชนบท นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ร่วมเป็นสักขีพยาน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้ออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบทที่กำหนด พ.ศ. 2564 ซึ่งภายหลังจากที่กระทรวงคมนาคมได้เปิดให้ผู้ขับขี่รถใช้ความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บนทางหลวงหมายเลข 32 หรือถนนสายเอเชีย ช่วงหมวดทางหลวงบางปะอิน ถึงทางต่างระดับอ่างทอง เป็นเส้นทางแรก เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา ตามนโยบายการปรับเพิ่มอัตราความเร็วของรถยนต์ จากความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ล่าสุดก็ได้เปิดเส้นทางนำร่องอีก 6 เส้นทางไปเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งการปรับอัตราความเร็วดังกล่าว กระทรวงคมนาคมได้เน้นย้ำให้กรมทางหลวงปรับปรุงเพิ่มมาตรฐานทางกายภาพให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
“ผลการดำเนินงานของโครงการดังกล่าว โดยเฉพาะ จากเฟสที่ 1 เห็นตัวเลขชัดเจนว่า โครงการดังกล่าว ทำให้สถิติอุบัติเหตุลดลงได้ประมาณ 15 % ซึ่งก็ทำให้มั่นใจว่า ตัวเลขสถิติในเฟสที่ 2 ที่เปิดโครงการไปในวันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา และระยะที่ 3 ที่จะดำเนินการเปิดเส้นทางได้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน” นายศักดิ์สยามกล่าว
รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม กล่าวด้วยว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการความร่วมมือระหว่างกัน ในการเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัย ทั้งบนทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงชนบท เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนน สามารถเดินทางบนทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงชนบทได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย โดยมีเป้าหมายในการลดจำนวนผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ลดอุบัติเหตุรุนแรงทางถนนได้ สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท จะร่วมมือระหว่างกัน ในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ได้พิจารณาเส้นทางที่จะปรับความเร็วใหม่เพิ่มเติม จำนวน 8 เส้นทาง โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) สำหรับการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง โดยแบ่งเป็น เส้นทางของกรมทางหลวง 6 เส้นทาง ได้แก่
- เส้นทางที่ 1 ทางหลวงหมายเลข 1 ช่วงหนองแค – หินกอง – ปากข้าวสาร – แยกสวนพฤกษศาสตร์พุแค กม. 79+000 – 105+000 ระยะทางรวมประมาณ 26.000 กิโลเมตร
- เส้นทางที่ 2 ทางหลวงหมายเลข 9 ช่วงบางแค – คลองมหาสวัสดิ์ กม. 23+000 – 31+872 ระยะทางรวมประมาณ 8.872 กิโลเมตร
- เส้นทางที่ 3 ทางหลวงหมายเลข 347 ช่วงเทคโนโลยีปทุมธานี – ต่างระดับเชียงรากน้อย กม. 1+000 – 10+000 ระยะทางรวมประมาณ 10.000 กิโลเมตร
- เส้นทางที่ 4 ทางหลวงหมายเลข 35 ช่วงนาโคก – แพรกหนามแดง กม. 56+000 – 80+600 ระยะทางรวมประมาณ 24.600 กิโลเมตร
- เส้นทางที่ 5 ทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงเขาวัง – สระพระ กม. 160+000 – 167+000 ระยะทางรวมประมาณ 7.000 กิโลเมตร
- เส้นทางที่ 6 ทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงเขาวัง – สระพระ กม. 172+000 – 183+500 ระยะทางรวมประมาณ 11.500 กิโลเมตร
และเส้นทางของกรมทางหลวงชนบท 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางที่ 1 นบ.3021 (ถนนราชพฤกษ์) ตลอดเส้นทาง ระยะทางรวมประมาณ 51.700 กิโลเมตร เส้นทางที่ 2 นบ.1020 (ถนนนครอินทร์) ตลอดเส้นทาง ระยะทางรวมประมาณ 12.400 กิโลเมตร
โดยถนนทั้ง 8 เส้นทาง กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท จะดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย อุปกรณ์ที่ช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ เช่น ปรับปรุงเครื่องหมายจราจรบนผิวทางติดตั้งป้ายจราจร ป้ายเตือน ป้ายจำกัดความเร็ว ก่อสร้างกำแพงคอนกรีต ตลอดจนติดตั้งระบบขนส่งอัจฉริยะ (Intelligent Transportation System) และระบบอื่นที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดใช้งานได้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า หรือเดือนมีนาคม 2565
รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม กล่าวด้วยว่า กระทรวงคมนาคม จะเดินหน้าโครงการพัฒนาความปลอดภัยทางถนน เพื่อประโยชน์ผู้ใช้ทางทั่วประเทศ โดยจะมีการตั้งงบประมาณ เพื่อพัฒนาความปลอดภัยทางกายภาพถนน ติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยต่างๆ ครอบคลุมถึงโครงการติดตั้งกำแพงคอนกรีต หุ้มยางพาราธรรมชาติ (Rubber Fender Barrier: RFB) ที่รัฐบาลและกระทรวงคมนาคม คิ๊กออฟโครงการไปแล้ว โดยตั้งเป้าหมายที่จะดำเนินการปรับปรุงถนน ให้ได้ครบ 12,000 กม. ภายใน 4 ปี โดยจะตั้งงบประมาณ ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป.- สำนักข่าวไทย