กรุงเทพฯ 10 ก.พ. – ธปท. จี้เอกชนทำเฮดจิ้งอัตราแลกเปลี่ยน หลับพบเอกชนทำเฮดจิ้งในปีที่ผ่านมาลดลง พร้อมเผยตั้งแต่ต้นปีเงินบาทผันผวนที่ร้อยละ 3.7
นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตลาดเงินในปีนี้มีความไม่แน่นอนสูงมาก นับตั้งแต่ที่นานโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า แต่เมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เงินดอลลาร์สหรัฐกลับอ่อนค่าลง โดยอัตราความผันผวนเงินบาทตั้งแต่ต้นปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 3.7 สูงกว่าค่าเงินรูเปียะห์ ของอินโดนีเซียที่มีค่าความผันผวนร้อยละ 3.3 ส่วนเปโซ ฟิลิปปินส์ ผันผวนร้อยละ 4.3 เงินหยวน จีน ร้อยละ 4.5 สิงคโปร์ดอลลาร์ ร้อยละ 8.1 และวอนเกาหลีใต้ ร้อยละ 13.5 ดังนั้นธปท.จึงเตือนภาคเอกชนให้ระวังความผันผวนของค่าเงิน เพราะอัตราแลกเปลี่ยนสามารถเคลื่อนไหวได้ 2 ทิศทาง ขอให้เอกชนซื้อประกันป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ล่วงหน้า ( เฮดจิ้ง) ซึ่งที่ผ่านมาธปท.เน้นการดูแลค่าเงินบาทบางช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ไม่สามารถฝืนกระแสตลาดได้
ทั้งนี้ค่าเฉลี่ยอัตราการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนในปี 2559 พบว่าผู้ส่งออกมีการซื้อประกันความเสี่ยง ร้อยละ 19.7 ลดลงจากปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 24.27 ขณะที่ผู้นำเข้าซื้อประกันความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 26.8 จากร้อยละ 26.1 ในปี2558 ซึ่งธปท. คาดหวังให้เอกชนทำเฮดจิ้งเพิ่มขึ้น
นางสาววชิรา กล่าวด้วยว่า เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพนักค้าเงิน คณะกรรมการตลาดการเงินไทย ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนจากสมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. สมาคมตราสารหนี้ไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดทำมาตรฐานและพัฒนาคุณภาพผู้ค้าเงิน โดยกำหนดให้ผู้ค้าเงินที่อยู่ในตลาดเงินและตลาดเงินตราต่างประเทศ จำนวน 700 คน เข้ารับการทดสอบความรู้พื้นฐาน กฎระเบียบ และ จริยธรรม โดยนักค้าเงินที่มีประสบการณ์มาแล้วตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ซึ่งมีประมาณ 500 คน จะได้รับอนุโลมไม่ต้องสอบเรื่องเทคนิค แต่ต้องผ่านการอบรมจากวิทยากรของธปท. และผู้เชี่ยวชาญจากสิงคโปร์ โดยต้องมีการต่ออายุทุก 2 ปีด้วยการอบรม ซึ่งธปท.จะเปิดรับสมัครสอบตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2560 เป็นต้นไป และคาดว่าจะสามารถรับรองคุณสมบัติผู้ค้าเงินได้ครบถ้วนภายในเดือนกันยายน 2560 ซึ่งหวังว่าแม้การกำหนดมาตรฐานและพัฒนาคุณภาพผู้ค้าเงิน จะไม่ได้เป็นกฎหมายกำหนด แต่จะเป็นมาตรฐานให้ผู้ค้าเงินทุกคนปฎิบัติเหมือนกัน
ส่วนกรณีร้านซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ( Money Exchange) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ นั้น นางสาววชิรา กล่าวว่าอยู่ภายใต้การดูแลของธปท. โดยมีการกำหนดให้ร้านซื้อขายเงินตราต่างประเทศต้องรายงานปริมาณธุรกรรมต่อธปท. ทุกเดือน และกรณีที่มีการซื้อขายเงินตราต่างประเทศมูลค่าเกิน 2 ล้านบาทต่อราย ต้องรายงานข้อมูลให้กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ด้วย.- สำนักข่าวไทย