ก.คลัง 4 พ.ย. -“พิชัย” รมว.คลัง มองหลังเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ สงครามการค้าจะรุนแรงมากขึ้น ไทยควรปรับโครงสร้างการลงทุนรองรับ ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนสำคัญมากขึ้น เพราะรูปแบบการส่งออกเปลี่ยน หลายประเทศหันมาดูแลค่าเงิน แต่รัฐบาลคงไม่ไปแทรกแซง
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่จะมีขึ้นในวันที่ 5 พ.ย.นี้ว่า ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ใครจะได้เป็นประธานาธิบดี ระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ หรือ กมลา แฮร์ริส สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับ จีน ก็จะรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น ไทยจึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างการลงทุนในประเทศ ให้มีสัดส่วนของ Local Content ให้สูงขึ้นและเพิ่มความเป็นเจ้าของ เพื่อลดการกีดกันทางการค้า ไม่ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็มีปัญหาทั้งนั้น เพราะเขาต้องยึดหลักผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก เมื่อก่อนสหรัฐ เป็น one way show แต่ตอนนี้มีขั้วอำนาจอื่นๆ ขึ้นมาแข่ง สหรัฐฯ เองก็ต้องปรับนโยบาย
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง ประเทศไทยคือหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ จึงไม่แปลกใจที่นักลงทุนต่างชาติ ทยอยย้านฐานมาลงทุนประเทศไทย และยื่นขอ BOI จำนวนมาก เพียงแต่ว่าหลังจากที่นักลงทุนย้ายมาลงทุนที่ไทยแล้ว สิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการต่อก็คือ การทำให้การผลิตมี local content มากขึ้น และเป็นความคิดของเราเอง โครงสร้างความเป็นเจ้าของก็ต้องเป็นคนไทย ซึ่งจะได้เป็นการผลิตในไทย คิดในไทย และส่งออกโดยไทยที่แท้จริง ซึ่งเราจะต้องเร่งพัฒนาตนเอง ไม่ใช่ว่าเอารูปแบบ เอาความคิดของเขามาประกอบในประเทศเท่านั้น เราจะต้องเริ่มทำให้เป็นของเราเอง
ในส่วนของสถานการณ์ค่าเงินบาท ตนเองมองว่า ค่าเงินบาทจะแข็งค่าหรือจะอ่อนค่านั้น ต้องมองใน 2 ประเด็นคือ หากค่าเงินบาทอ่อนจะต้องอ่อนให้น้อยกว่าประเทศคู่แข่ง เพราะว่าเขาเองก็ส่งออกเหมือนกัน ส่วนประเด็นที่ 2 คือ กรณีเงินดอลลาร์แข็งค่า ซึ่งก็มีผลกับทุกประเทศ เมื่อค่าเงินต่างกันมากเงินก็จะไหลกลับสหรัฐฯ ซึ่งวันนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อน เพราะไทยมีสภาพคล่องและมีเงินทุนสำรองเพียงพอที่จะดูแลเรื่องเหล่านี้ได้ วันนี้ปัญหาคงไม่เยอะมากนัก แต่สิ่งที่อยากเห็นมากกว่าคือความสามารถในการส่งออก หากมองในระยะสั้นๆ มีบางช่วงที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น บางช่วงที่บาทอ่อนค่า แต่อยากให้มองระยะยาว ไม่ใช่มองแค่ 3 เดือน หรือ 6 เดือน หรือ 1 ปี หากมองย้อนหลังหายๆปี และมองไปข้างหน้า เราไม่เสียเปรียบใช่หรือไม่
“อัตราแลกเปลี่ยนเริ่มทวีความสำคัญมากขึ้น หลายประเทศที่เคยใช้เงินเฟ้อ ก็ต้องหันมาดู เพียงแต่จะดูอย่างเปิดเผย หรือไม่เปิดเผยมากนั้น แน่นอนว่าเราก็คงไม่ไปแทรกแซงจนอะไร ทุกประเทศก็ดูแลของตัวเองทั้งนั้น เพราะฉะนั้นผมคิดว่าอัตราแลกเปลี่ยนเริ่มทวีความสำคัญโดยเฉพาะตอนนี้การส่งออกรูปแบบก็เปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จึงสำคัญ” นายพิชัย กล่าว
ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างที่ตนเองบอกว่าทุกคนเห็นตรงกันหมด เพราะมีทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาวโดยมาตรการกระตุ้นระยะกลาง และระยะยาวส่วนใหญ่จะเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีทั้งโครงการที่รองรับการลงทุนใหม่ที่เป็นภาครัฐ รองรับการลงทุนจากภาคเอกชน เพราะฉะนั้นมาตรการเหล่านี้เราก็เดินหน้าได้เลย เป็นมาตรการที่ทำให้ต้นทุนของภาคเอกชนสามารถแข่งขันได้ เช่น เรื่องการเดินทาง โลจิสติกส์ ซึ่งต้องเดินหน้าตั้งแต่วันนี้ เพราะฉะนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่จำเป็นต้องมานั่งถามกันทุกสัปดาห์ แต่สิ่งที่เราจะต้องกระตุ้นมีความหมายเพราะว่าที่ผ่านมา เศรษฐกิจบ้านเราอ่อนแอก็ต้องกระตุ้น ก็คือทำอะไรที่มันเร็วเร็วเพื่อคนที่อยู่ในตอนนี้ จะสามารถฟื้นและแข็งแรงเพื่อรองรับการเติบโตในระยะกลางและระยะยาวต่อไป สิ่งที่เราคุยในตอนนี้ก็คือมาตรการระยะสั้น ซึ่งก็ต้องดูสถานการณ์ด้วยว่าช่วงนี้เป็นอย่างไรก็ต้องปรับเปลี่ยนตามรูปแบบ. -517-สำนักข่าวไทย