กรุงเทพฯ 10 ก.ย. – โควิดยังประมาทไม่ได้ ผู้ป่วยยังต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ปตท. ภาครัฐ และพันธมิตรทางการแพทย์ ร่วมกันเพิ่มขีดความสามารถของโรงพยาบาลสนาม ICU ในโครงการลมหายใจเดียวกัน ซึ่งมี 120 เตียง ใหญ่ที่สุดในประเทศ
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนาม ICU สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ระดับสีแดง ในโครงการลมหายใจเดียวกัน กลุ่ม ปตท. บนพื้นที่ 4 ไร่ ด้านหน้าโรงพยาบาลปิยะเวท พร้อมด้วยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารระดับสูงของโรงพยาบาลปิยะเวท จำกัด (มหาชน) ให้การต้อนรับ
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวว่า กลุ่ม ปตท. ได้จัดสรรงบประมาณกว่า 1,700 ล้านบาท เพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์ความรุนแรงในหลายด้านในช่วงโควิด จนนำมาสู่การจัดตั้ง “โครงการลมหายใจเดียวกัน” ขึ้น เพื่อร่วมดูแลประชาชน ในขณะนี้ที่สถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย กลุ่ม ปตท. ได้จัดตั้งหน่วยคัดกรองโควิด-19 เปิดคัดกรองเฉลี่ยวันละ 1,000-1,200 คน เมื่อพบว่าติดเชื้อจะคัดแยกและให้ยารักษาทันที และจัดตั้งโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End) สร้างความอุ่นใจแก่ประชาชน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2564 โดยวางระบบ Home Isolation และโรงพยาบาลสนาม (Hospitel) สีเขียว 1,000 เตียง สีเหลือง 300 เตียง และจัดตั้ง “โรงพยาบาลสนาม ICU” 120 เตียง ถือเป็น ICU สนามที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ สามารถลดการเสียชีวิตของประชาชน ในระยะเวลาเพียง 1 เดือน (9 สิงหาคม-8 กันยายน 2564) หน่วยคัดกรองโควิด-19 และโรงพยาบาลสนามครบวงจร กลุ่ม ปตท. ให้บริการคัดกรองแก่ประชาชนไปแล้วกว่า 23,000 ราย ให้การรักษาผู้ติดเชื้อกว่า 2,600 ราย ในทุกระดับอาการ ขณะนี้มีผู้หายป่วยจากการรักษาในโครงการฯ แล้วจำนวนกว่า 1,100 ราย คิดเป็นร้อยละ 42 ทั้งนี้ จะเปิดให้บริการไปจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศจะผ่านพ้นไป
นพ.วิทิต อรรถเวชกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวว่า โรงพยาบาลสนามกลุ่ม ปตท. สำหรับผู้ป่วยโควิดที่มีอาการวิกฤติ (ICU) ระดับสีแดง มีความพร้อมระดับสูงสุด รองรับผู้ป่วยได้จำนวน 120 เตียง มีพื้นที่รองรับผู้ป่วยโควิดที่ต้องฟอกไตโดยเฉพาะ จำนวน 24 เตียง มีเครื่องช่วยหายใจ ระบบออกซิเจนส่งตรงถึงทุกเตียง ซึ่งแต่ละเตียงจะแยกห้องกัน เป็นลักษณะห้องความดันลบ เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมมาตรฐานระดับห้องไอซียูในโรงพยาบาล ใช้เทคโนโลยีระบบดิจิทัล (central monitor) ทำให้สามารถสังเกตอาการของผู้ป่วยได้ตลอดเวลา และมีระบบการกู้ชีพอัตโนมัติ มีเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ สามารถส่งภาพไปยังรังสีแพทย์ทางไกลได้ทันที ถือเป็นการดูแลผู้ป่วยแบบเข้มข้น (Intensive care) และมีรถพยาบาลฉุกเฉิน ที่เตรียมพร้อมรับส่งคนไข้ อีกทั้งมีแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่อย่างเพียงพอ มีเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์นวัตกรรมของกลุ่ม ปตท. และ “Hybrid Treatment for PM2.5 and Airborne Pathogens” ของสถาบันนวัตกรรม ปตท. มาติดตั้ง เพื่อฟอกและกำจัดเชื้อโรคในอากาศบริเวณโดยรอบอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย