กรุงเทพฯ 10 ก.ย. – นายกฯ ย้ำการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนทุกมิติ ในเวทีงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ 18 (CAEXPO)
วันนี้ (10 กันยายน 2564) เวลา 09.00 น. (ซึ่งตรงกับเวลา 10.00 ณ นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง สาธารณรัฐประชาชนจีน) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวถ้อยแถลงในพิธีเปิดงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ 18 (China-ASEAN Expo: CAEXPO) ร่วมกับผู้นำจากประเทศต่าง ๆ ได้แก่ จีน ลาว บรูไน กัมพูชา มาเลเซีย เมียนมา ปากีสถาน และเวียดนาม ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรียินดี และชื่นชมรัฐบาลจีนที่จัดการแสดงสินค้าจีน-อาเซียนมาอย่างต่อเนื่อง เป็นโอกาสที่ดีสำหรับทุกภาคส่วนในการขยายความร่วมมือที่ใกล้ชิดให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นวาระครบรอบใน 2 โอกาสสำคัญ คือ วาระครบรอบ 100 ปี ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน และวาระครบรอบ 30 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ที่ล้วนแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและแน่นแฟ้น ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้นำเสนอวิสัยทัศน์ของความเป็นหุ้นส่วนทางที่รอบด้านอาเซียน-จีน สำหรับทศวรรษต่อไป ดังนี้
1. ทศวรรษแห่งการเสริมสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุข เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับสถานการณ์โควิด-19 ได้ ซึ่งต้องมีความพร้อมและความยืดหยุ่นที่เพียงพอในการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ไทยมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อยกระดับขีดความสามารถและเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาและความท้าทายด้านสาธารณสุขทุกมิติ รวมถึงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัสที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการจัดตั้งศูนย์การผลิตและแจกจ่ายวัคซีนในประเทศสมาชิกอาเซียน
2. ทศวรรษแห่งการฟื้นฟูและการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในระยะยาว ไทยสนับสนุนการยกระดับ FTA อาเซียน-จีน รวมทั้งผลักดันให้ RCEP มีผลบังคับใช้ในโอกาสแรก เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงนี้ได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกัน ไทยจะสานต่อข้อริเริ่มการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงต่าง ๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะการปฏิบัติตาม MPAC กับ BRI ซึ่งรวมถึงระเบียงเศรษฐกิจ ทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศของจีน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค พร้อมอำนวยความสะดวกด้านการค้า การลงทุน การบริการ และการเดินทางระหว่างกัน อีกทั้งควรพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพ สร้างขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ MSMEs และ start-ups ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ตลาด และเทคโนโลยี เพื่อขยายโอกาสสำหรับเศรษฐกิจฐานรากในภูมิภาคต่อไป
3. ทศวรรษแห่งการเสริมสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ เนื่องจากที่ผ่านมาภัยคุกคามต่าง ๆ เช่น โรคระบาด และภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นบทเรียนที่ทำให้ตระหนักถึงความจำเป็นของการสร้างความสมดุลอย่างยั่งยืน โดยอาเซียนและจีนได้กำหนดให้ปี 2564 และ 2565 เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน และไทยในฐานะผู้ประสานงานของอาเซียนเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ยืนยันเจตนารมณ์และความพร้อมที่จะเร่งผลักดันความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีน โดยเฉพาะในเรื่องการขจัดความยากจนและความหิวโหยและความร่วมมือใหม่อย่าง BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะเป็นแนวทางสู่การฟื้นฟูและการเติบโตอย่างสมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม
อนึ่ง งานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ 18 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 – 13 กันยายน 2564 ณ นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Sharing Opportunities Created by the New Land-Sea Corridor, Building the China-ASEAN Community with a Shared Future” โดยจะมีการจัดแสดงสินค้าและนิทรรศการ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมนานาชาติหนานหนิง และผ่านช่องทางออนไลน์ รวมทั้งการประชุมย่อยคู่ขนานในสาขาความร่วมมือต่าง ๆ ภายใต้ความร่วมมืออาเซียน-จีน.- สำนักข่าวไทย