กรุงเทพฯ 8 ก.ย. – “รมว.เฉลิมชัย” สั่งการให้กรมชลประทานพร้อมรับมือน้ำเหนือไหลหลาก จากที่มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ กำชับให้บริหารจัดการเพื่อลดผลกระทบให้มากที่สุด ด้านอธิบดีกรมชลประทานเตือนสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีก 50-70 เซนติเมตร
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า เป็นห่วงสถานการณ์น้ำเนื่องจากฝนที่ตกชุกและตกหนักในหลายพื้นที่ทางตอนบนของประเทศ ส่งผลให้มีน้ำท่าไหลหลากลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง จึงมอบหมายให้กรมชลประทานดำเนินการตามแผนบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 64 อย่างเคร่งครัด และเน้นย้ำโครงการชลประทานทุกแห่งพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนช่วงนี้อย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ ย้ำให้ประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าที่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วม เตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือให้พร้อมใช้งาน รวมถึงการแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำตั้งแต่ระดับท้องถิ่น อำเภอ และจังหวัดเพื่อบูรณาการลดความเสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ส่งผลให้มีน้ำท่าไหลหลากลงสู่แม่น้ำสายหลักต่างๆ ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ระดับน้ำจึงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงให้โครงการชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริม 2 ฝั่งแม่น้ำแล้ว
ปัจจุบัน ที่สถานี C.2 อ. เมือง จ. นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 983 ลูกบาศก์เมตร/วินาที (ลบ.ม./วินาที) สมทบกับแม่น้ำสะแกกรังอีกประมาณ 62 ลบ.ม./วินาที ก่อนจะไหลลงสู่บริเวณเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งขณะนี้มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 700 ลบ.ม./วินาที คาดการณ์ว่า ปริมาณน้ำไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์จะเพิ่มขึ้นอีก อยู่ในเกณฑ์ประมาณ 1,100 – 1,200 ลบ.ม./วินาที จึงบริหารจัดการโดยตัดยอดน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งรวม 469 ลบ.ม./วินาที เพื่อควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ 700 – 900 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 50-70 เซนติเมตร โดยเฉพาะพื้นที่ตลิ่งต่ำบริเวณริมแม่น้ำน้อย ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ต่อเนื่องถึงตำบลกระทุ่มและหัวเวียง อำเภอเสนา และตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ไม่ทำให้เกิดน้ำท่วมแต่อย่างใด
นายประพิศกล่าวต่อว่า กรมชลประทานจะควบคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าว พร้อมกับบริหารจัดการน้ำเต็มศักยภาพของพื้นที่ โดยมิให้มีผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร หากมีปริมาณน้ำหลากเพิ่มขึ้นที่จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 900 ลบ.ม./วินาทีจะเร่งแจ้งเตือนทุกหน่วยงานและประชาชนเฝ้าระวังทันที. – สำนักข่าวไทย