กรุงเทพฯ 24 ส.ค. – ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เผยเตรียมเสนอร่างกฎกระทรวงฯ ยกสถานะ “ฉลามวาฬ-เต่ามะเฟือง-วาฬบรูด้า” เป็นสัตว์ป่าสงวน รวมทั้งเพิ่มสัตว์ป่าคุ้มครอง 7 รายการ
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนากฎหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีมติเห็นชอบในหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. ….ตามมาตรา 5 และมาตรา 7 ของ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งปรับปรุงจากบัญชีท้ายกฎกระทรวงที่ออกตามความใน พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 โดยปรับสถานะรายการสัตว์ป่าคุ้มครองเป็นสัตว์ป่าสงวน 3 รายการได้แก่ ฉลามวาฬ เต่ามะเฟือง และวาฬบรูด้า ส่วนการเพิ่มรายการสัตว์ป่าคุ้มครอง 7 รายการได้แก่ ค่างตะนาวศรี งูหางแฮ่มกาญจน์ ปลากระเบนปีศาจหางเคียว ปลาฉลามหัวค้อนยาว ปลาฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน ปลาฉลามหัวค้อนใหญ่ และปลาฉลามหัวค้อนเรียบ ทั้งนี้มอบหมายให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชรับข้อคิดเห็นและข้อสังเกตของที่ประชุมไปประกอบการพิจารณา แล้วนำเสนอต่อคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองแห่งชาติต่อไป
นอกจากนี้ที่ประชุมยังพิจารณาปรับลดรายการสัตว์ป่าคุ้มครอง 20 รายการเช่น ค้างคาวกินแมลงนิ้วสั้น ค้างคาวปีกขนเหนือ พญากระรอกบินหูขาว นกกระเต็นน้อยหลังแดง ตะพาบพม่า และ ปลาฉนากฟันเล็ก เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าและสัตว์น้ำในปัจจุบัน รวมถึงมีการปรับเปลี่ยนชื่อภาษาไทยและชื่อวิทยาศาสตร์ ในลำดับชั้นสกุล หรือในลำดับชั้นชนิดบางรายการ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อมูลทางอนุกรมวิธานปัจจุบัน ซึ่งร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ดำเนินการจัดรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของกรมฯ มาแล้วระหว่างวันที่ 1-15 สิงหาคม 2564 โดยมีผู้มีส่วนได้เสีย ผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน และประชาชนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น
สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเผยแพร่ข้อมูลความแตกต่างของ “สัตว์ป่าสงวน” และ “สัตว์ป่าคุ้มครอง” โดยระบุว่า “สัตว์ป่าสงวน” หมายถึง สัตว์ป่าที่หายากตามบัญชีแนบท้ายพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และตามที่จะกำหนด โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ส่วน “สัตว์ป่าคุ้มครอง” หมายถึง สัตว์ป่าตามที่กฎกระทรวงกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยสิ่งที่เหมือนกันคือ ห้ามพยายามล่า ห้ามล่า ห้ามค้า ห้ามขาย ห้ามเลี้ยง ห้ามเพาะพันธุ์ ห้ามมีไว้ในครอบครอง ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออก เพื่อป้องกันมิให้สัตว์ป่าที่ยังมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ลูก ซากสัตว์ป่าเกิดอันตรายร้ายแรงจนทำให้สัตว์ป่าบางชนิดสูญพันธุ์ แต่ “สัตว์ป่าคุ้มครอง” นั้น ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าให้เป็นสัตว์ป่าชนิดที่อนุญาตให้เพาะพันธุ์ได้ ซึ่งจะกำหนดเป็นกฎกระทรวงให้เลี้ยงเพื่อการค้าได้. – สำนักข่าวไทย