รร.แกรนไฮแอท เอราวัณ 23 ก.พ.- รมว.คลังกำชับก.ล.ต.ดูแลปัญหาการขาย BE ให้กับรายย่อย และเรียกร้องให้บริษัทขนาดใหญ่ดูแลบริษัทขนาดเล็ก เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งทั้งระบบ
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานร่วมเปิดตัว ” หลักธรรมาภิบาลการลงทุน สำนักผู้ลงทุนสถาบัน I Code ” ระบุว่า การพัฒนาตลาดทุนแบบยั่งยืนต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีโครงการพี่ช่วยน้อง เพื่อต้องการให้บริษัทขนาดใหญ่ช่วยเหลือดูแลบริษัทขนาดเล็ก ยอมรับว่ายังไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร แม้จะนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวหักลดหย่อนภาษีได้ ดังนั้น จึงต้องการให้บริษัทขนาดใหญ่คำนึงถึงธรรมภิบาล เพื่อช่วยกันดูแลสังคม อีกทั้งมองว่า ตั๋วแลกเงิน (BE) ห้ามขายให้กับนักลงทุนรายย่อย เนื่องจากต้องใช้ความรู้ประเมินศักยภาพของผู้ออกตั๋ว BE แต่ได้มีการนำช่องว่าง เพื่อต้องการทำยอดขาย จึง นำตั๋วBE ออกขายให้กับนักลงทุนรายย่อย จนเกิดความเสียหายจำนวนมาก ผลกระทบจึงตกกับนักลงทุนรายย่อย จึงหวังว่าการทำสัญญาครั้งนี้ ต้องมีจิตสำนึกดูแลนักลงทุนรายย่อยมากขึ้น
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ภาคเอกชนในตลาดเงิน ตลาดทุน 53 หน่วยงานได้ร่วมดูแลเงินลงทุนกว่า 12 ล้านล้านบาท ที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์ ยึกหลักปฏิบัติ I Code 7 ข้อ ภาคเอกชนที่ร่วมประกาศเพื่อต้องการพัฒนาตลาดทุน เนื่องจากการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนจะพึ่งพาการออกกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องอาศัยการเห็นประโยชน์และการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีโดยตัวกิจการเอง รวมถึงการมีแรงผลักดันจากผู้มีส่วนร่วมในตลาด (market force) โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ลงทุนสถาบัน ดังนั้น I Code นี้จึงช่วยสนับสนุนให้ตลาดทุนไทยมี market forceที่เข้มแข็ง
หลักปฏิบัติ I Code ได้ใช้แนวทางเดียวกับสากล เพื่อเป็นกรอบจริยธรรมและความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดการลงทุนและการปกป้องผลประโยชน์ของลูกค้า ประกอบด้วยหลักปฏิบัติสำคัญ 7 ข้อ ซึ่งผู้ลงทุนสถาบันได้ทำอยู่แล้ว 2 เรื่อง คือ การจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างเพียงพอ และการเปิดเผยนโยบายการใช้สิทธิออกเสียงและผลการใช้สิทธิออกเสียง และมีเรื่องที่ต้องทำเพิ่มอีก 5 ข้อ กล่าวคือ การกำหนดนโยบายธรรมาภิบาลการลงทุนที่ชัดเจน ตัดสินใจและติดตามบริษัทที่ลงทุนอย่างใกล้ชิดและทันเหตุการณ์ เพิ่มระดับการติดตามบริษัทที่ลงทุน หากพบว่าบริษัทมีการดำเนินงานที่อาจมีข้อสังเกตด้านธรรมาภิบาล เข้าข่ายขัดแย้งทางผลประโยชน์ ผู้ลงทุนสถาบันก็จะออกหนังสือขอให้บริษัทชี้แจง ขอเข้าพบกรรมการอิสระ หรือกรรมการตรวจสอบ และถ้าเห็นว่ายังเพิกเฉยก็อาจประชุมร่วมกับผู้ลงทุนสถาบันอื่น ๆ เพื่อใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น และเปิดเผยนโยบายธรรมาภิบาลการลงทุน และการปฏิบัติตามนโยบายต่อลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ.-สำนักข่าวไทย