กรุงเทพฯ 21 ส.ค. – นักวิชาการชี้โพลไม่ใช่งานวิจัย และมีหลายครั้งที่ถูกตั้งคำถามว่า มีคำถามชี้นำหรือไม่ และเป็นการสะท้อนความเชื่อทางการเมืองของแต่ละกลุ่ม ระบุไม่ว่าโพลจะชี้อย่างไร ไม่สำคัญเท่ากับความชอบธรรมของรัฐบาลในสายตาประชาชน
นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงผลการสำรวจความเห็นของซูเปอร์โพล ที่ระบุว่า มีนักการเมืองและข้าราชการอยู่เบื้องหลังม็อบในขณะนี้ ว่า การชุมนุมที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงเรื่องของความขัดแย้งทางการเมืองและการต่อสู้ทางการเมือง ที่มีการต่อสู้ทุกรูปแบบ ทั้งในพื้นที่ ในเชิงวาทกรรมข้อมูลข่าวสาร และการใช้พื้นที่สื่อหรือแอร์วอร์ ซึ่งมีหลากหลายมิติ แต่ต้องยอมรับว่า ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยจะเห็นว่า ความถี่ในการชุมนุม และความถี่ในเรื่องความรุนแรงก็มีเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน เพราะนอกจากจะมีการแบ่งขั้วในเชิงปฏิบัติการทางการเมืองในระดับพื้นที่แล้ว ก็ยังมีการแบ่งขั้วเชิงปฏิบัติการทางความคิดด้วย ดังนั้น ผลโพลต่างๆ ที่ออกมาอาจจะทำให้อีกฟากฝั่งหนึ่งในทางความคิด ตั้งคำถามต่อผลการสำรวจต่างๆ ว่า สามารถตอบถึงสภาพความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน อย่างไร และหลายครั้งก็มีคำถามตามมาถึงความเป็นกลางในการตั้งคำถาม และต้องยอมรับว่า โพลไม่ใช่เรื่องของการวิจัยที่แท้จริง โดยวิธีวิจัย ตัวอย่างในการเก็บข้อมูล ระยะเวลาในการเก็บข้อมูลต่างๆ ก็แตกต่างจากการวิจัย และบ่อยครั้งโพลก็ถูกตั้งคำถามว่า มีการใช้คำถามที่ส่งผลต่อการชี้นำของผู้ตอบหรือไม่ ดังนั้น โพลต่างๆ ที่ออกมานั้นก็เป็นไปตามความเชื่อทางการเมืองของแต่ละกลุ่ม สำนักใครก็สำนักมัน และอาจจะเกิดคำถามขึ้นว่า ตกลงผลการสำรวจโพลแต่ละสำนักจะเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือไม่
“วันนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่ผลโพล แต่โจทย์ใหญ่ของรัฐบาล คือ การต้องเร่งสร้างความเชื่อถือและความเชื่อมั่นทางการเมือง ซึ่งจะส่งผลต่อความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาลเอง และทำให้คำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพประสิทธิผลในการทำงาน ทั้งด้านสาธารณสุข ประสิทธิภาพในการเข้าถึงวัคซีน การแก้ปัญหาเศรษฐกิจอันเป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากโควิด-19 ตรงนี้เป็นโจทย์ใหญ่มากกว่าเรื่องคำตอบจากโพลในการที่จะชี้ว่า ประชาชนมองรัฐบาลอย่างไร และรัฐบาลยังมีความชอบธรรมในสายตาของประชาชนมากน้อยแค่ไหนเพียงใด” นายยุทธพร กล่าว. – สำนักข่าวไทย