กรุงเทพฯ 16 ส.ค. – “ออสท์แลนด์” โชว์ผลแล็บ ATK “LEPU” แถลงโต้ชุดตรวจราคาถูกมีคุณภาพ ผลิตจากโรงงานเครื่องมือแพทย์มาตรฐานโลก ยันราคาชุดตรวจไม่แพงเกินจริง มีต้นทุนนำเข้าและบริหารจัดการกระจายสินค้า
จากกรณีการจัดซื้อชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชุด วงเงิน 600 ล้านบาท ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) มีการตั้งคำถามถึงมาตรฐานและความโปร่งใสในการจัดซื้อชุดตรวจ ทางบริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด และบริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ชนะการประมูลงานจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) แถลงข่าวออนไลน์ ชี้แจงประเด็นด้านราคา คุณภาพ และผลการทดสอบชุดตรวจ “LEPU”
โดย น.ส.รังสินี หวังมั่น โปรดักต์ สเปเชียลิสต์ (product specialist) บริษัท ออสท์แลนด์ฯ เปิดเอกสารผลการทดสอบทางห้องปฏิบัติการจาก 3 แห่ง ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศไทย สถาบัน BIOMEX GmbH Heidelberg ณ ประเทศเยอรมนี ความไวในการวินิจฉัย ร้อยละ 95.5, คณะกรรมาธิการยุโรป ร้อยละ 92, คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีความไวในการวินิจฉัย ร้อยละ 90 แสดงให้เห็นว่า ผ่านตามเกณฑ์ทางกฎหมาย และเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด สอดคล้องกับประกาศจาก อย.ไทย เรื่องชุดตรวจโควิดแบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง ที่ได้กำหนดว่าต้องมีคุณภาพมาตรฐานโดยผ่านเกณฑ์ประเมิน คือ ความไวต้องมากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 90 ความจำเพาะมากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 98 และความไม่จำเพาะน้อยกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 10
ส่วนกระแสข่าวเรื่องการประกาศจากเอฟดีเอสหรัฐให้ระงับใช้และเรียกคืนชุดผลิตภัณฑ์ทดสอบโควิด-19 ชี้เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหลัก จึงไม่มีการยื่นขอเอฟดีเอจากสหรัฐแต่อย่างใด สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เรียกเก็บคืนเป็นแบบเจาะเลือด ไม่ใช่เกิดจากสินค้าไม่มีคุณภาพ แต่เพราะไม่ได้ส่งตรวจและขึ้นทะเบียน ทั้งนี้ ทางผู้ผลิตขอยืนยันว่า ชุดตรวจ ATK ที่จะส่งมายังประเทศไทย เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับตลาดสหภาพยุโรป ไม่ใช่ชุด Antibody ตามที่เป็นข่าว
ด้านนางศิริญา เทพเจริญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ณุศาศิริ จำกัด และกรรมการบริหาร บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ตัวแทนจำหน่าย ATK ของ “ออสท์แลนด์ แคปปิตอล” และเป็นผู้ชนะประมูลในโครงการพิเศษของ สปสช. ชี้บริษัทผู้ผลิต “LEPU” อยู่ในวงการแพทย์กว่า 20 ปี มีความน่าเชื่อถือ มีมาตรฐานได้รับการยอมรับทั่วโลก และได้มาตรฐานไทย
สำหรับราคาชุดตรวจที่ชนะการประมูล ในราคาชุดละ 70 บาท ทั้งที่ความเป็นจริงต้นทุนจากโรงงานจำหน่ายราคากว่า 30 บาท จนมีการตั้งข้อสงสัยรัฐบาลไทยจะนำเข้าชุดทดสอบโควิด-19 ในราคาที่แพงเกินจริง ยืนยันว่า ต้นทุนการนำเข้าประมูลในราคา 70 บาท/ชุด รวม VAT 7% มีค่าดำเนินการอื่นๆ ด้วย เช่น ค่าขนส่งเหมาลำเครื่องบินจากจีน ค่าใช้จ่ายจัดเก็บชุดอุปกรณ์ภายในห้องที่มีอุณหภูมิเหมาะสม การกระจายชุดตรวจกว่า 1,000 จุดทั่วประเทศ ค่าพนักงาน ซึ่งเป็นต้นทุนที่บริษัทฯ มีความจำเป็นต้องบวกเพิ่มจากราคาต้นทุนจากโรงงาน เพื่อนำมาบริหารจัดการอย่างเหมาะสม พร้อมยืนยันราคาที่บริษัทฯ ชนะประมูลเป็นไปอย่างโปร่งใส และเหมาะสมกับคุณภาพของชุดผลิตภัณฑ์ ATK. – สำนักข่าวไทย