นครปฐม 3 ส.ค.- รวบหนุ่มสุดแสบ! ลักลอบผลิตฟ้าทะลายโจรปลอม นำผงบอระเพ็ดใส่เเทน ค้นบ้านเจอขวดเปล่าเตรียมบรรจุ 60,000 ขวด คาดหากหลุดออกสู่ตลาด ผู้ซื้อเคราะห์ร้ายอาจได้ฟ้าทะลายโจรปลอมเพียบ
ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค และ เจ้าหน้าที่ อย. ร่วมกันแถลงผลการจับกุมนายธนโชติ (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาลักลอบผลิตแคปซูลยาฟ้าทะลายโจรโดยไม่ได้รับอนุญาต ตรวจสอบพบว่าใช้ผงบอระเพ็ดบรรจุในแคปซูลแทนผงฟ้าทะลายโจร รวมมูลค่าของกลางกว่า 400,000 บาท
โดยตำรวจได้เบาะแส จึงลองสั่งฟ้าทะลายโจรจากนายธนโชติ 100 ขวด เมื่อนำไปตรวจสอบพบว่าเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงขยายผลเข้าตรวจค้นบ้านพักใน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ซึ่งใช้เป็นสถานที่ผลิตยาฟ้าทะลายโจร ตรวจพบของกลาง อาทิ แคปซูลฟ้าทะลายโจร จำนวน 450 ขวด, แคปซูลบรรจุผง จำนวน 29 กก., แคปซูลบรรจุผง จำนวน 60,000 แคปซูล, ขวดเปล่าพร้อมฝา จำนวน 6,000 ขวด และสติกเกอร์ฉลากผลิตภัณฑ์จำนวนมาก
สอบถามนายธนโชติ ให้การรับสารภาพว่าเป็นเจ้าของบ้านและลักลอบผลิตยาฟ้าทะลายโจรดังกล่าวจริง โดยทำมานานประมาณ 1 เดือน และเนื่องจากช่วงนี้ยาฟ้าทะลายโจรขายดี ทำให้วัตถุดิบหายาก ประกอบกับตนมีความรู้ด้านสมุนไพร รู้ว่าบอระเพ็ดมีรสขมคล้ายฟ้าทะลายโจร จึงได้นำผงบอระเพ็ดมาบรรจุลงแคปซูลแทนผงฟ้าทะลายโจร เพื่อจำหน่ายให้กับประชาชน
เบื้องต้นถูกดำเนินคดีฐาน “ผลิตสมุนไพรปลอม” มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท, ฐาน “ผลิตหรือขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต” มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, ฐาน “ขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม” มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท
พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ. ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชน อย่าเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตามคำโฆษณา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร และควรเลือกซื้อจากร้านขายยาหรือร้านค้าที่เชื่อถือได้ ขอแจ้งเตือนให้ผู้ที่กำลังกระทำความผิด ลักลอบผลิตยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาต หยุดการกระทำดังกล่าวทันที หากตรวจพบจะดำเนินคดีถึงที่สุด
ขณะที่ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข ย้ำว่า ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจร จัดเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ฉลากต้องมีเลขทะเบียนตำรับสมุนไพรขึ้นต้นด้วยอักษร “G” แนะก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ ให้ตรวจสอบอย่างละเอียด เพื่อจะได้ไม่เสี่ยงกับผลิตภัณฑ์ปลอม โดยสามารถตรวจสอบได้ที่ ระบบตรวจสอบการอนุญาตผลิตภัณฑ์ www.fda.moph.go.th หรือ Oryor Smart Application และหากพบผลิตภัณฑ์ที่สงสัยว่าจะผิดกฎหมาย สามารถ แจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย.1556 หรืออีเมล์ 1556@fda.moph.go.th . – สำนักข่าวไทย