กรุงเทพฯ 3 ส.ค. – ระบบรางอ่วม! ผู้โดยสารลดลง โดยรวม 88.8% โดยเหลือเพียงวันละ 138,169 คน/วัน
นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยข้อมูลปริมาณเฉลี่ยผู้โดยสารรายวันในระบบขนส่งทางรางทุกระบบ พบว่าปริมาณผู้โดยสารลดลงกว่า 88.8% ซึ่งจำนวนผู้โดยสารในระบบขนส่งทางรางที่ลดลงนั้น เกิดขึ้นภายหลังจากการประกาศข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 27 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 จนถึง ฉบับที่ 28 ในปัจจุบัน ซึ่งได้มีการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อยับยั้งและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ที่มีผลต่อปริมาณการเดินทางในระบบขนส่งทางราง ได้แก่ การห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด การจำกัดบริการการเดินทางและขบวนรถ การควบคุมความหนาแน่นในขบวนรถและการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และจำกัดกิจกรรม/กิจการ ฯลฯ ที่มีการบังคับใช้แตกต่างกันไปในแต่ละสถานการณ์การระบาดของโรคตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 จนถึงปัจจุบันซึ่งยังคงมีการระบาด (ระลอกใหม่) ที่ทวีความรุนแรงขึ้น
ขร. ได้จัดทำข้อมูล เปรียบเทียบปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยในช่วงก่อนการระบาดภายในประเทศในปี 2562 เทียบกับปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยนในช่วงที่มีการระบาดและมีประกาศข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 27 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน พบว่าปริมาณผู้โดยสารลดลง โดยรวมถึง 88.8% โดยเหลือเพียงวันละ 138,169 คน/วัน ซึ่งสามารถจำแนกตามระบบ ดังนี้
- การรถไฟแห่งประเทศไทย (SRT) ลดลง 90.76% เหลือ 7,896 คน/วัน
- การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (MRT) ลดลง 80.05% เหลือ 67,251 คน/วัน
- บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (ARL) ลดลง 86.75% เหลือ 9,531 คน/วัน
- รถไฟฟ้า BTS ลดลง 82.27% เหลือ 130,240 คน/วัน .-สำนักข่าวไทย