กรุงเทพฯ 3 ส.ค. – อธิบดีกรมควบคุมมลพิษเผย เสนอรมว. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ลงนามประกาศเรื่อง ปรับปรุงมาตรฐานค่าควันดำรถยนต์ แก้ไขปัญหา PM2.5 หลังคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติเห็นชอบ
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ ทส. เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด พ.ศ. … แล้ว ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างเสนอนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงนามในประกาศดังกล่าว ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรฐานค่าควันดำกับรถยนต์เก่า การกำหนดมาตรฐานให้เหมาะสม ไม่เป็นภาระต่อผู้บริโภค และการพิจารณาระยะเวลาบังคับใช้ให้เหมาะสมสอดคล้องกับการเตรียมการพัฒนารถยนต์ รวมถึงการปรับปรุงค่าเกณฑ์มาตรฐานระบบกระดาษกรองคือ ค่ามาตรฐาน (เดิม) ขณะไม่มีภาระ ไม่เกิน 50% ค่ามาตรฐาน (ใหม่) ขณะไม่มีภาระ ไม่เกิน 40% และระบบวัดความทึบแสง ค่ามาตรฐาน (เดิม) ขณะไม่มีภาระไม่เกิน 45% ค่ามาตรฐาน (ใหม่) ขณะไม่มีภาระไม่เกิน 30 % เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมมลพิษ แก้ไขปัญหา PM2.5 จากแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทรถยนต์ซึ่งให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ประกอบด้วย กรมการขนส่งทางบก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้จะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
นายอรรถพลกล่าวต่อว่า จากผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศในบรรยากาศของกรุงเทพมหานครหลายปีที่ผ่านมา ปรากฎว่า บริเวณริมถนนในกรุงเทพมหานครมีปริมาณมลพิษสูงกว่าพื้นที่อื่นทั่วไป สารมลพิษที่เป็นปัญหาหลักยังคงเป็นฝุ่นละอองขนาดใหญ่และฝุ่นละอองขนาดเล็ก ฝุ่นละอองที่มีขนาดใหญ่มักจะก่อให้เกิดปัญหาเหตุเดือดร้อนรำคาญ ส่วนฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยเฉพาะ PM2.5 สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ ซึ่งจะเกาะตัวหรือตกตัวได้ในส่วนต่างๆของระบบทางเดินหายใจ ก่อให้เกิดการระคายเคืองและทำลายเนื้อเยื่อของอวัยวะนั้นๆ เช่น เนื้อเยื่อปอด หากได้รับปริมาณมากหรือในช่วงระยะเวลายาวนาน จะสะสมในเนื้อเยื่อปอดเกิดเป็นพังผืดหรือแผลขึ้นได้ รวมทั้งทำให้การทำงานของปอดเสื่อมประสิทธิภาพลงทำให้หลอดลมอักเสบ เกิดหอบหืด ถุงลมโป่งพอง และมีโอกาสเกิดโรคระบบทางเดินหายใจเนื่องจากติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้
ผลการศึกษาถึงแหล่งที่มาของฝุ่นละอองในกรุงเทพมหานคร พบว่าร้อยละ 40 มีที่มาจากรถยนต์ที่ใช้อยู่บนท้องถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งควันดำจากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ ดังนั้นมาตรการการห้ามใช้รถยนต์ที่มีควันดำเกินค่ามาตรฐานเป็นแนวทางหนึ่งที่จะสามารถลดปริมาณฝุ่นละอองในกรุงเทพมหานครได้. – สำนักข่าวไทย