กรุงเทพฯ 2 ส.ค.-ออมสิน เดินหน้า ธนาคารเพื่อสังคม หลังช่วยประชาชน 3 ด้าน เสริมสภาพคล่อง พักชำระหนี้ ลดโครงสร้างดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบ กันสำรองเผื่อหนี้เสีย 200 %
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ได้มุ่งเน้น ยุทธศาสตร์ เป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ช่วยเหลือให้ประชาชนและภาคธุรกิจตามนโยบายรัฐบาล มากกว่า 30 โครงการ ช่วยเหลือประชาชนกว่า 9 ล้านคน ยึดหลักการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างกำไรในระดับที่เหมาะสม และนำกำไรส่วนหนึ่ง มาสนับสนุนการดำเนินธุรกิจเชิงสังคม จนเกิดเป็นผลงานที่โดดเด่น 3 ด้าน คือ (1) ด้านการเสริมสภาพคล่องแก่ผู้มีรายได้น้อยและ SMEs ขนาดเล็กผ่านมาตรการสินเชื่อ (2) ด้านการผ่อนปรนการชำระหนี้ด้วยการปรับลด การพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย และ (3) ด้านการเข้าแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง หวังดึงอัตราดอกเบี้ยในระบบให้ต่ำลง ช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสใช้สินเชื่อที่มีต้นทุนถูกลงและเป็นธรรมมากขึ้น
ทั้งนี้ ในรอบปีที่ผ่านมา ดึงลูกค้ารายย่อยเข้าถึงแหล่งทุนกว่า 3.2 ล้านคน ผ่านมาตรการสินเชื่อ อาทิ สินเชื่อเสริมพลังฐานราก สินเชื่อฉุกเฉินสำหรับผู้มีอาชีพอิสระ และสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 ประชาชนกู้เงินกว่า 2.5 ล้านคน เป็นผู้ที่ไม่เคยมีประวัติเครดิตทางการเงิน หรือมีเครดิตต่ำกว่าเกณฑ์อนุมัติปกติของสถาบันการเงิน สำหรับผู้ประกอบการ SMEs รายเล็ก ขอสินเชื่อเป็นมูลค่าสูงถึงกว่า 162,000 ล้านบาท ผ่านมาตรการสินเชื่อ อาทิ สินเชื่อ Soft Loan ธนาคารออมสิน สินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยว และสินเชื่ออิ่มใจ (ธุรกิจร้านอาหาร) เป็นต้น รวมถึงออกผลิตภัณฑ์ใหม่ “สินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน” ช่วยให้ SMEs ยื่นกู้ง่ายขึ้น เนื่องจากช่วงวิกฤติ ลูกค้ามีรายได้ไม่แน่นอน และไม่วิเคราะห์ข้อมูลเครดิต แต่เน้นพิจารณาหลักประกันเป็นหลัก
สำหรับการป้องกันไม่ให้กลายเป็นหนี้เสีย (NPLs) และเสียประวัติเครดิตในอนาคต ธนาคาร ได้ช่วยเหลือลดภาระให้ลูกค้ากว่า 3 ล้านคน ประกอบด้วยมาตรการ (1) มาตรการพักชำระหนี้ 6 เดือนแก่ร้านอาหารและโรงแรม (2) มหกรรมแก้หนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษา (3) มาตรการแก้หนี้สำหรับลูกค้าทั่วไปที่ประสบปัญหาการชำระเงินงวด จากผลกระทบไวรัส COVID-19 มีผู้เข้าร่วมโครงการ กว่า 730,000 ราย และ (4) มาตรการล่าสุด รายย่อยที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 2 แสนบาท จำนวนกว่า 750,000 ราย สามารถพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ได้สูงสุด 6 เดือน
นอกจากนี้ ธนาคารออมสิน ได้เข้าไปดึงอัตราดอกเบี้ยในระบบให้ลดลง ผ่านธุรกิจจำนำทะเบียนรถ โดยร่วมลงทุนใน บจ. เงินสดทันใจ ปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ สร้างแรงกระเพื่อมในตลาดจำนำทะเบียน จากเดิมดอกเบี้ยสูงถึง 24% – 28% ปัจจุบันลดลงเหลือ 16% – 18% ทำให้กลุ่มเป้าหมาย 3.5 ล้านคน รับประโยชน์เข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยต้นทุนถูกลง
สำหรับผลการดำเนินงานในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา สิ้นสุด ณ 30 มิถุนายน 2564 ธนาคารออมสินมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งมากขึ้น โดยมีสินทรัพย์รวม 2,860,000 ล้านบาท มีเงินฝาก 2,450,000 ล้านบาท และสินเชื่อรวม 2,190,000 ล้านบาท นับเป็นธนาคาร ขนาดใหญ่ 5 อันดับแรก
ท่ามกลางวิกฤติไวรัสโควิด-19 ธนาคารต่างระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อเพื่อควบคุมความเสี่ยง ขณะที่ประชาชนและภาคธุรกิจต่างประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ธนาคารออมสินจึงต้อง เข้ามาปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบอย่างเต็มที่ โดยช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแล้วมากกว่า 270,000 ล้านบาท ดูแลหนี้เสียอยู่ให้ไม่เกิน 2% รวมถึงเพิ่มการกันสำรองส่วนเกิน (General Provision) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งอีกกว่า 32,000 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) แข็งแรงถึง 205.15% .-สำนักข่าวไทย