กรุงเทพฯ 23 ก.ค. – หุ้น STECH เปิดเทรดวันแรกที่ 3.54 บาท เพิ่มขึ้น 0.76 บาท (+27.34%) จากราคาขาย IPO ที่ 2.78 บาท/หุ้น
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยินดีต้อนรับบริษัท สยามเทคนิคคอนกรีต จำกัด (มหาชน) หรือ STECH เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง หมวดวัสดุก่อสร้าง ในวันนี้ (23 ก.ค.64)
STECH ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงภายใต้เครื่องหมายการค้า STEC ได้แก่ เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง เสาไฟฟ้าคอนกรีตอัดแรงและผลิตภัณฑ์ประกอบเสาไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์คานสะพานและพื้นสะพาน เสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็กอัดแรงโดยใช้แรงเหวี่ยง โดยให้บริการแก่ลูกค้าทั้งภาครัฐบาลและเอกชน พร้อมกับการให้บริการที่เกี่ยวเนื่องอย่างครบวงจร เช่น บริการขนส่งและตอกเสาเข็ม ทั้งนี้บริษัทยังมีศักยภาพในการทำงานรับเหมาก่อสร้างที่เกี่ยวกับธุรกิจหลัก โดยมีประสบการณ์ในงานติดตั้งระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 115 kV และงานติดตั้งเคเบิลใยแก้วนำแสง
นายวัฒน์ชัย มงคลศรีสวัสดิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามเทคนิคคอนกรีต จำกัด (มหาชน) หรือ STECH ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงรายใหญ่ กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน โดยบริษัทฯ มีแผนนำเงินที่ได้จากการระดมทุน จำนวนประมาณ 550 ล้านบาท นำไปใช้ขยายธุรกิจเสาคอนกรีตอัดแรง ประมาณ 298 ล้านบาท ตามโครงการที่วางไว้โดยลงทุนในโรงงานใหม่ 2 แห่งที่ชลบุรี และมุกดาหาร รวมทั้งเพิ่มกำลังการผลิตในโรงงานเดิม ย้ำจุดแข็งการมีโรงงานกระจายอยู่หลายภูมิภาคของประเทศไทย
นอกจากนี้ เงินที่ได้จากการระดมทุนส่วนหนึ่งจะใช้คืนเงินกู้ระยะสั้นประเภทตั๋วสัญญาใช้เงินจากสถาบันการเงิน ซึ่งจะทำให้ต้นทุนทางการเงินลดลงและอีกส่วนหนึ่งใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน การขยายงานต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและผู้ถือหุ้น เป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในระยะยาวต่อไป
อย่างไรก็ดี สถานการณ์โควิด – 19 ส่งผลให้มีการปิดแคมป์คนงานและงานก่อสร้างในหลายโครงการชะลอลง ยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทอยู่บ้าง แต่เชื่อว่า งานจะเริ่มกลับมาเดินหน้าต่อได้ในเดือนสิงหาคมถึงกันยายนของปีนี้ ซึ่ง STECH มีความได้เปรียบจากโรงงาน ปัจจุบันมีจำนวน 9 แห่ง ครอบคลุม ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และโรงงานแห่งที่ 10 ที่ชลบุรี สาขา 2 จะแล้วเสร็จในไตรมาส 4 ปีนี้ รวมทั้ง โรงงานแห่งที่ 11 ที่มุกดาหาร จะแล้วเสร็จในปี 2567 รองรับดีมานด์ในตลาดที่อยู่ในระดับสูง โดยที่ตั้งโรงงานยังใกล้เคียงโครงการก่อสร้าง Mega Project ของภาครัฐและเอกชน ทำให้แนวโน้มการเติบโตของผลประกอบการในปี 2564-2565 เติบโตต่อเนื่อง โดยลูกค้าร้อยละ 80 เป็นภาครัฐ และร้อยละ 20 เป็นเอกชน เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ,CP ,น้ำตาลมิตรผล และผู้รับเหมาก่อสร้างเป็นต้น
ทั้งนี้ ปัจจุบัน บริษัทฯ มีงานในมือที่รอส่งมอบ (Backlog) เกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ และมีโอกาสประมูลงานเพิ่ม จึงเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ผลการดำเนินงานในปี 2564 เป็นไปตามเป้าหมาย เติบโตจากปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทมีรายได้รวม 1,550.33 ล้านบาท กำไรสุทธิ 140.60 ล้านบาท . – สำนักข่าวไทย