กรุงเทพฯ 9 มี.ค.-กระทรวงคมนาคมกำหนดรูปแบบจัดซื้อจัดจ้างโครงการระบบรางมีเงื่อนไขต้องพัฒนาเทคโนโลยีให้กับไทยด้วย พร้อมตั้งเป้าหมายเพิ่มระบบรางจาก 4,000 กิโลเมตรปัจจุบันเป็น 9,000-10,000 กิโลเมตรในอีก 10 ปีข้างหน้า
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการ และแสดงนิทรรศการอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทยครั้งที่ 3 ว่า แม้ปัจจุบันคนไทยจะสามารถผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ระบบรางได้เอง เช่น การเดินรถ งานโยธา การซ่อมบำรุง แต่ยังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศอีกหลายด้านในการพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้เกิดผลสำเร็จ ดังนั้นการจัดซื้อจัดจ้างโครงการคมนาคมขนส่งทางรางของรัฐบาล ที่มีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท รวมถึงโครงการรถไฟรางคู่อีก 5 เส้นทางที่ยังอยู่ระหว่างการรอประมูล จึงจะเป็นรูปแบบใหม่ โดยจัดทำยุทธศาสตร์ความร่วมมือการจัดซื้อจัดจ้างที่มีเงื่อนไขความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรม หรือ Industrial Collaboration Program (ICP)
นายอาคม กล่าวว่า รูปแบบใหม่ดังกล่าว มีเงื่อนไขให้ผู้ขายต่างประเทศต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับประเทศไทย เพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีที่สำคัญจากต่างประเทศ และพัฒนากำลังคน เพื่อรองรับการพัฒนาด้านระบบรางอย่างมีประสิทธิภาพ และจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของชิ้นส่วนและอุปกรณ์ภายในประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และนำไปสู่โอกาสในการผลิตชิ้นส่วนรถไฟฟ้าในประเทศเพื่อใช้เองในอนาคต ซึ่งในหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย และ ประเทศตะวันออกกลาง มีการใช้ระบบ ICP แล้ว และ ประสบความสำเร็จ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวอีกว่า รัฐบาลมีเป้าหมายเพิ่มระบบการขนส่งระบบรางจากปัจจุบันที่สัดส่วนการขนส่งระบบรางเพียงร้อยละ 2 ของจีดีพี เป็น ร้อยละ 5 ของจีดีพี ในปี 2565 ดังนั้นคณะรัฐมนตรีจึงอนุมัติโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าและ รถไฟรางคู่หลายเส้นทาง เพื่อเพิ่มการขนส่งระบบราง หรือ เพิ่มรางรถไฟ อีกประมาณ 5,000 กิโลเมตร จากปัจจุบันอยู่ที่ 4,000 กิโลเมตร รวมเป็น 9,000-10,000 กิโลเมตร เพื่อรองรับความต้องการใช้ระบบรางที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 กิโลเมตรในอีก 10 ปีข้างหน้า และจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ จากร้อยละ 14 เหลือ 12 ของจีดีพี ในระยะเวลา 8 ปี
สำหรับงานประชุมวิชาการ และแสดงนิทรรศการอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทยครั้งที่ 3 ( RISE3) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-10 มีนาคม นี้ ที่ แอร์พอร์ต เรลลิงก์ มักกะสัน กรุงเทพ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ( สวทช.) กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานพันธมิตร เพื่อแสดงผลงานและนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าของการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบรางของอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งมีการส่งมอบผลงานวิจัย ” การพัฒนาต้นแบบระบบการตรวจสภาพทางรถไฟ” เฟสแรก ผลงานของผศ.ดร.สืบสกุล พิภพมงคล จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)และการชี้แจงถึงประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างที่มีเงื่อนไข ในการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางไทยให้กับเอกชนทั้งในและต่างประเทศ .- สำนักข่าวไทย