ทำเนียบฯ 28 ก.พ.-ครม.เห็นชอบลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้กับผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย หวังดึงเข้าทำงานใน EEC ลดภาษีเหลือร้อยละ 17 ต้องเป็นบุคคลอาศัยอยู่ในไทยไม่เกิน 180 วัน ยืนยันไม่กระทบภาระภาษี
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ …..) พ.ศ. ….. เพื่อเป็นมาตรการภาษีเพื่อจูงใจผู้มีความสามารถสูงจากเวทีระดับโลก ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย ทั้งคนไทยหรือต่างชาติ ให้เข้ามาทำงานในประเทศไทยใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายตามโครงการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจภาคภาคตะวันออก (EEC) ด้วยการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหลือร้อยละ 17 จากเดิมเพดานภาษีของบุคคลธรรมดาสูงสุดสร้อยละ 35 หากลดหย่อนภาษีในด้านต่างๆ ยอดภาษีเหลือประมาณร้อยละ 28 เนื่องจากเห็นว่าผู้บริหาร ส่วนใหญ่มีเงินเดือนนับล้านบาท หากเข้ามาทำงานอยู่ในเขต EEC จะได้รับสิทธิ์ทันที เพื่อไม่ต้องแบ่งรับเงินเดือนในต่างประเทศและบางส่วนรับเงินในประเทศ
ดังนั้นจึงให้บุคคลดังกล่าวเลือกแนวทางเสียภาษีเพียงด้านใดด้านหนึ่ง หากเลือกเสียภาษีแบบคงที่ร้อยละ 17 (เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยงเลี้ยง โบนัส) จะไม่ให้หักลดหย่อนมาตรการต่างๆ หรือจะเลือกการภาษีแบบอัตราก้าวหน้าสูงสุดร้อยละ 35 เพื่อรับสิทธิ์ลดหย่อนต่างเหมือนเดิมได้ คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะได้รับความสนใจจากผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญจำนวมากเข้ามาอยู่ใน EEC เพื่อดึงคนไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ หรือคนต่างชาติเข้ามาทำงานในไทย ขณะนี้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในสิงคโปร์ร้อยละ 20 ฮ่องกงสูงสุดร้อยละ 17 แต่เป็นอัตราก้าวหน้า โดยบริษัทต้องแจ้งรายชื่อกลุ่มคนดังกล่าวให้กับกรมสรรพากรรับทราบ สำหรับเงินได้อย่างอื่นที่นอกเหนือจากการจ้างแรงงานตามมาตรการนี้จะต้องเสียภาษีในอัตราก้าวหน้าตามปกติ สำหรับในปีการใช้สิทธิลดหย่อนผู้เสียภาษีจะต้องอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 180 วัน ยกเว้นปีแรกและปีสุดท้ายจะอยู่ในไทยน้อยกว่า 180 วันก็ได้ ห้ามย้ายจากจังหวัดอื่น เพื่อเข้ามาอยู่ใน EEC เพื่อหวังประโยชน์ทางภาษี
ผู้ได้รับการลดหย่อนภาษีเข้ามาทำงานในองค์กร บริษัทที่ตั้งอยู่ในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ได้รับการส่งเสริมจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันหรือบีโอไอพลัส และได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ และอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย อุตสาหกรรมอนาคต ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน และมีผู้สนใจลงทุน ประกอบด้วย 1) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Robotics) 2) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) 3) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) 4) อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) 5) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) เพื่อให้ได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา.- สำนักข่าวไทย