กรุงเทพฯ 29 มิ.ย. – คลังเผย ครม.ไฟเขียวขยายเวลาโครงการสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ รวม 3 โครงการ ผ่านแบงก์รัฐ ที่จะสิ้นสุด 30 ธ.ค.นี้ ช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ลดภาระหนี้
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบขยายเวลาโครงการสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ทั่วถึง รวม 3 โครงการ โดยจะขยายเวลาให้ผู้ประกอบการยื่นขอสินเชื่อได้ถึงวันที่ 30 ธ.ค.นี้ จากเดิมสิ้นสุด 30 มิ.ย.นี้
สำหรับโครงการที่ 1 ขยายเวลาโครงการสินเชื่อรายย่อย Extra Cash ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) โดยจะขยายเวลาถึง 30 ธ.ค. โครงการที่ 2 สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เอสเอ็มอี ท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องของธนาคารออมสิน ซึ่งปัจจุบันยังมีวงเงินคงเหลือ 3,800 ล้านบาท และ 3.โครงการเอสเอ็มอีมีที่มีเงินธุรกิจท่องเที่ยวของธนาคารออมสิน ซึ่งยังมีวงเงินคงเหลือ 6,300 ล้านบาท โดยทั้ง 2 โครงการจะขยายเวลายื่นขอสินเชื่อได้ถึง 30 ธ.ค. นี้จากเดิมจะสิ้นสุดในเดือนมิ.ย. นี้
นายอาคม กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 7 แห่ง ได้ออกมาตรการพักชำระหนี้ โดยให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งหมด 7.56 ล้านราย คิดเป็นวงเงิน 3.46 ล้านล้านบาท โดยปัจจุบันมีลูกหนี้ที่ยังอยู่ในมาตรการ 3.23 ล้านราย คิดเป็นวงเงิน 1.26 ล้านล้านบาท
ส่วนความคืบหน้าของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู วงเงินโครงการ 250,000 ล้านบาท ปัจจุบันอนุมัติสินเชื่อแล้ว 13,435 ราย วงเงินรวม 40,764 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 209,236 ราย ขณะที่มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ วงเงินโครงการ 100,000 ล้านบาท อนุมัติสินเชื่อแล้ว 7 ราย วงเงิน 922 ล้านบาท และยังมีวงเงินคงเหลือ 99,078 ล้านบาท พร้อมย้ำว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นั้น หากได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงประชาชน ถ้าร่วมมือกันจะเห็นสถานการณ์ที่คลี่คลายลง และกลับมาทำธุรกิจ ใช้ชีวิตได้ตามปกติ New Normal
ส่วนกรณีการพิจารณาปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคล สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ และสินเชื่อบัตรเครดิตนั้น จะต้องหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยยังไม่แล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ เนื่องจากจะต้องพิจารณาในหลายรอบ โดยเฉพาะจะต้องหารือกับธนาคารพาณิชย์ด้วย
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธนาคารขยายระยะเวลาความช่วยเหลือลูกค้าเดิมที่อยู่ใน 7 มาตรการ และยังได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 ออกไปอีก นานสูงสุด 7 เดือน หรือจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. นี้ เช่น แบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ (ตัดต้น ตัดดอก) ขยายระยะเวลาลดเงินงวดผ่อนชำระ และพักชำระหนี้ พักชำระเงินต้น และจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน เป็นต้น โดยจะเริ่มเปิดลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วม 6 มาตรการผ่าน Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy บน Application Line ได้ตั้งแต่วันที่ 1-29 ก.ค. 64 ส่วนมาตรการที่ 12 ลงทะเบียนได้ที่ทุกสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือน มิ.ย.-พ.ย.นี้
สำหรับมาตรการที่ 9, 10, 11 และ 11 New Entry เป็นแบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ (ตัดต้น ตัดดอก) มาตรการที่ 12 ขยายระยะเวลาลดเงินงวดผ่อนชำระ และพักชำระหนี้ สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการสินเชื่อแฟลตรายเดิมที่อยู่ในมาตรการความช่วยเหลือของธนาคาร มาตรการที่ 13 พักชำระเงินต้น และจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน สำหรับลูกค้าที่มีสถานะบัญชีปกติ (ไม่เป็น NPL ไม่อยู่ขั้นตอนของกฎหมาย และไม่อยู่ระหว่างทำข้อตกลงประนอมหนี้) ที่อยู่ระหว่างใช้มาตรการความช่วยเหลือเดิมของธนาคาร
ส่วนมาตรการที่ 14 เป็นมาตรการ พักชำระเงินต้น และจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน พร้อมลดดอกเบี้ยลงเหลือ 3.90% ต่อปี สำหรับลูกหนี้ที่สถานะ NPL และลูกหนี้ NPL ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งจะพ้นสิทธิการปรับโครงสร้างหนี้ที่ใช้อยู่หากใช้มาตรการที่ 14 และต้องเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบอาชีพ หรือทำธุรกิจ หรือการค้า เนื่องจาก COVID-19 และไม่สามารถผ่อนชำระเงินงวดให้ธนาคารได้ตามสัญญาเงินกู้หรือข้อตกลงปรับโครงสร้างหนี้หรือตามคำพิพากษา
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ที่ผ่านมาธนาคารได้ออกมาตรการช่วยเหลือทั้งเยียวยาและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นวงเงินรวมกว่า 200,000 ล้านบาท แบ่งเป็น การสนับสนุนการให้สินเชื่อรายย่อย 3.11 ล้านราย วงเงิน 44,286 ล้านบาท และสินเชื่อผู้ประกอบการ 22,532 ราย วงเงินสินเชื่อ 160,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีมาตรการที่กำลังดำเนินการ ทั้งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเอสเอ็มอีท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง สินเชื่อเอสเอ็มอีมีที่มีเงินธุรกิจท่องเที่ยว และสินเชื่อฟื้นฟู เป็นต้น
ทั้งนี้ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs “มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยว” ของธนาคารออมสิน ได้ปรับหลักเกณฑ์เพิ่มเติม โดยให้ ขยายกลุ่มเป้าหมายโครงการ ฯ ครอบคลุมผู้ประกอบการ SMEs ในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ เช่น ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจการเดินทางและขนส่ง ธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีก ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจสปาและนวดแผนไทย ธุรกิจการเดินทางและขนส่ง ธุรกิจโรงเรียนเอกชน เป็นต้น หรือผู้ประกอบการในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด ตามที่ธนาคารออมสินเห็นสมควร รวมถึงปรับปรุงหลักเกณฑ์วงเงินสินเชื่อต่อรายกรณีผู้กู้เป็นนิติบุคคล จากเดิมพิจารณารายได้รวมของงบการเงินปีล่าสุด (รอบบัญชีปี 2562) เป็นพิจารณารายได้รวมของงบการเงินปีล่าสุด (รอบบัญชีปี 62 หรือปี 63 แล้วแต่กรณีใดสูงกว่า) เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของผู้ประกอบการ SMEs
นอกจากนี้ ยังปรับปรุงการพิจารณาหลักประกันการกู้เงินจากเดิมไม่รับหลักประกันที่ไม่มีสภาพคล่อง เช่น ที่ดินที่ไม่มีทางเข้า-ออก ที่ดินที่มีบ่อน้ำ หรือถูกขุดหน้าดิน ที่ดินใต้แนวเสาไฟฟ้าแรงสูง ที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวน เป็นต้น เป็นไม่รับหลักประกันที่ไม่มีสภาพคล่องตามที่ธนาคารออกสินกำหนด เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs และ ขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อถึง 30 ธ.ค.นี้
นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า จากสภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในปัจจุบัน ทำให้ประชาชนบางส่วนขาดรายได้และไม่สามารถประกอบอาชีพเดิมของตนเองได้ ธ.ก.ส. จึงได้เปิดตัวสินเชื่อใหม่ เพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายหรือค่าลงทุนในการเริ่มต้นประกอบอาชีพ สนับสนุนการสร้างงาน สร้างอาชีพในชุมชนเมืองและภาคชนบท ผ่านโครงการสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท
โดยคุณสมบัติผู้กู้ ต้องเป็นเกษตรกร ทายาทเกษตรกร บุคคลในครัวเรือนเกษตรกร หรือบุคคลทั่วไป ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีแผนในการประกอบอาชีพเกษตรหรือ ประกอบการเกษตรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรืออาชีพนอกภาคการเกษตร หรืออาชีพที่มีลักษณะเป็นการลงทุนค้าขายเพื่อเลี้ยงชีพในครัวเรือนซึ่งใช้เงินลงทุนไม่มากนัก วงเงินกู้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย กรณีกู้เป็นค่าใช้จ่ายคิดอัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี กำหนดระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 12 เดือน (พิเศษไม่เกิน 18 เดือน) นับแต่วันกู้ กรณีเป็นค่าลงทุนปีที่ 1-3 คิดดอกเบี้ยในอัตรา 4% ต่อปี ปีที่ 4-5 อัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับ 6.5% ต่อปี) กำหนดระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 5 ปี โดยปลอดชำระต้นเงิน 2 ปีแรก แต่ยังต้องชำระดอกเบี้ย
นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รักษาการผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า ผลดำเนินงานให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจ ตั้งแต่ 1 ม.ค.-25 มิ.ย. 64 ว่า ได้อนุมัติวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวมทุกโครงการ จำนวน 103,000 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบธุรกิจ จำนวน 107,000 ราย ได้แก่ โครงการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟู จำนวน 35,000 ล้านบาท โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 9 จำนวนกว่า 50,000 ล้านบาท โครงการค้ำประกันสินเชื่อไมโคร 4 และโครงการอื่นๆ จำนวน 6,900 ล้านบาท
สำหรับผลดำเนินงานโครงการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟู ขณะนี้มีสถาบันการเงินเข้าร่วมโครงการ 23 ธนาคาร อนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ จำนวน 35,000 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบธุรกิจ จำนวน 12,300 ราย อนุมัติวงเงินค้ำประกันสินเชื่อเฉลี่ยต่อวัน ประมาณ 1,600 ล้านบาท โดย 5 อันดับกลุ่มธุรกิจที่ บสย.ค้ำสูงสุด ได้แก่ 1.ธุรกิจบริการ 2.ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 3.การผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ 4.ธุรกิจยานยนต์ และ 5 ธุรกิจพักแรม. – สำนักข่าวไทย