รัฐสภา17 มิ.ย.- รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ให้ความมั่นใจควบคุมโรค “ลัมปี สกิน” ได้ภายใน 4 เดือนนี้ หลังส่งวัคซีนช่วยเกษตรกร ข่าวดีไทยจะผลิตวัคซีนได้เอง ย้ำเนื้อสัตว์ป่วยบริโภคได้ แต่ต้องปรุงสุก ไม่ติดต่อจากสัตว์สู่คน
คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังการประชุมเพื่อพิจารณา เรื่องแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคระบาดในสัตว์ โดยได้เชิญกรมปศุสัตว์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรมาชี้แจงในเรื่องการแก้ไขปัญหาโรคลัมปี สกิน ที่พบการระบาดในโค-กระบือ ในพื้นที่ 51 จังหวัด มีโค กระบือ ป่วยสะสม 125,563 ตัว ตายสะสม 3,993 ตัว
นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า โรคลัมปี สกิน เกิดจาดเชื้อไวรัส มีแมลงดูดเลือดเป็นพาหะ และเป็นโรคที่มีอัตราการป่วย การตาย ไม่สูงมาก สามารถรักษาหายขาด และสัตว์ที่ป่วยเมื่อรักษาหายจะมีภูมิคุ้มกัน เนื้อโคกระบือ ที่ป่วยด้วยโรคนี้มีความปลอดภัยรับประทานได้ เพราะเชื้อโรคไม่เข้ามาสู่กล้ามเนื้อ อยู่เพียงผิวหนัง แต่การจะบริโภคควรต้องปรุงให้สุก ซึ่งโรคนี้ไม่ติดต่อสู่คน การระบาดส่วนใหญ่ ระบาดในภาคอีสาน และภาคกลางบางส่วน
สำหรับมาตรการที่กรมปศุสัตว์ดำเนินการ คือควบคุมการเคลื่อนย้าย หากจะเคลื่อนย้ายต้องมีการตรวจและพ่นยาฆ่าเชื้อโรค การกำจัดแมลงที่เป็นพาหะ ด้วยพ่นสารกำจัดและติดหลอดไฟไล่แมลง ต้องหมั่นเฝ้าดูอาการโค กระบือ หากพบตัวที่สงสัยจะต้องแยกออกจากฝูง กางมุ้งและพ่นยาฆ่าแมลง แล้วแจ้งปศุสัตว์ รวมทั้งรักษาสัตว์ที่เป็นโรค
ส่วนการใช้วัคซีนควบคุมป้องกันโรค ได้นำเข้ามาแล้ว 360,000 โดส ซึ่งลอตแรก 60,000 โดส ส่งไปทางภาคอีสาน ส่วนที่เหลือกระจายไปทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม กรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัย ทดลองทำวัคซีนและจะผลิตวัคซีนต้นแบบได้ในเดือนกรกฎาคม และจะทดสอบเรื่องคุณภาพและประสิทธิภาพในเดือนสิงหาคม รวมทั้งการผลิตวัคซีนจากพืชที่จะทดสอบได้ในอีก 2 เดือน ถือเป็นความก้าวหน้าในการดำเนินการเร่งด่วน ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย จะจัดรณรงค์เร่งด่วน ด้วยการจัดหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่หน่วยพ่นสารกำจัดแมลงพาหะ และแจกสารกำจัดแมลงและเวชภัณฑ์ในการรักษาแผล และยาบำรุงในการดูแลสัตว์ รวมทั้งให้ความรู้แก่เกษตรกร จึงเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถควบคุมโรคนี้ได้ภายใน 4-5 เดือนนี้.-สำนักข่าวไทย