ประจวบคีรีขันธ์ 23 ส.ค. – หมอล็อตวางแผนสุ่มเก็บตัวอย่างเลือดและชิ้นเนื้อจากกระทิงและวัวแดงที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีเพิ่มเติม หลังพบอาการต้องสงสัยติดโรคลัมปี สกินในกระทิง 66 ตัวและวัวแดง 4 ตัว กำหนดพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษโรคอุบัติใหม่ในสัตว์ป่า ทำ “ห้องพยาบาล-คลังยา” พร้อมรักษาอาการป่วยสัตว์ป่าทันที
นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือหมอล็อต หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเปิดเผยว่า กำลังรอผลตรวจหาสารพันธุกรรมโรคลัมปี สกินจากตัวอย่างเลือดและชิ้นเนื้อที่เก็บจากกระทิงอีก 1 ตัวในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี โดยเก็บตัวอย่างมาทั้งหมด 3 ตัว พบผลบวก 1 ตัวและอีก 1 ตัวไม่พบ ดังนั้นขณะนี้จึงมีข้อมูลยืนยันการป่วยและตายด้วยโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease : LSD) ในสัตว์ป่า 1 ตัวของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ล่าสุด เตรียมสำรวจโรคลัมปี สกินเชิงรุกด้วยการสุ่มเก็บตัวอย่างเลือดและชิ้นเนื้อจากรอยแผลที่ปรากฏบนตัวกระทิงเพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงและประกอบการสืบสวนโรค
ที่ผ่านมา ได้กำหนดพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษโรคอุบัติใหม่ในสัตว์ป่า เตรียมพร้อมทีมสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ และเวชภัณฑ์เข้ารักษาทันที หากพบสัตว์ป่วยหนัก จะเสมือนเป็น “ห้องพยาบาล” ในป่า รวมถึงทำ “คลังยา” ด้วยการปลูกพืชอาหารและสร้างแหล่งดินโป่งซึ่งประกอบด้วยแร่ธาตุต่างๆ ที่จำเป็นแก่สัตว์กินพืช เพิ่มวิตามิน เอ ดี อี และซีลีเนียมเพื่อช่วยรักษาบาดแผลและเสริมภูมิคุ้มกัน ซึ่งพบกระทิงและช้างป่าลงมาใช้พื้นที่โป่งจำนวนมาก
สำหรับที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีเติม “คลังยา” 12 แหล่ง เมื่อกระทิงออกมากินแร่ธาตุและวิตามินที่เสริมไว้ที่โป่งทำให้ถ่ายรูปและประเมินสุขภาพง่ายขึ้น จากการตรวจสอบภาพถ่ายจาก12 จุด พบกระทิง 66 ตัวและวัวแดง 4 ตัวที่สงสัยว่า มีร่องรอยโรคลัมปีสกิน ได้แก่
จุดที่ 1 แปลงหญ้าปศุสัตว์ทางเข้าบ่อ 5 พบกระทิงมีอาการต้องสงสัย 12 ตัว
จุดที่ 2 บ่อ 5 พบกระทิงมีอาการต้องสงสัย 9 ตัว
จุดที่ 3 แปลงหญ้า WWF ทางเข้าบ่อ 8 พบกระทิงมีอาการต้องสงสัย 9 ตัว
จุดที่ 4 สระป่าสนไฟไหม้ พบกระทิงมีอาการต้องสงสัย 4 ตัว
จุดที่ 5 แปลงหญ้า 200 ไร่ พบกระทิงมีอาการต้องสงสัย 14 ตัวและวัวแดง 3 ตัว
จุดที่ 6 แปลงหญ้าสยามไวน์ / บ่อช้างใหม่ พบกระทิงมีอาการต้องสงสัย 2 ตัว
จุดที่ 7 แปลงหญ้าทหาร พบกระทิงมีอาการต้องสงสัย 7 ตัว
จุดที่ 8 แปลงหญ้าทหาร พบกระทิงมีอาการต้องสงสัย 12 ตัวและวัวแดง 1 ตัว
จุดที่ 9 แปลงหญ้าโป่งสลัดได พบกระทิงมีอาการต้องสงสัย 1 ตัว
จุดที่ 10 แปลง 200 ไร่ พบกระทิงมีอาการต้องสงสัย 2 ตัว
จุดที่ 11 แปลง 200 ไร่ พบกระทิงมีอาการต้องสงสัย 3 ตัว
จุดที่ 12 แปลงหญ้าสยามไวน์ / ต้นมะค่าโมง พบกระทิงมีอาการต้องสงสัย 4 ตัว
นายสัตวแพทย์ภัทรพลกล่าวเพิ่มเติมว่า รอยโรคที่พบไม่รุนแรง แต่ต้องป้องกันการแพร่ระบาดเพราะลูกกระทิงและกระทิงที่ร่างกายอ่อนแอมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อไวรัสนี้ได้ง่าย ซึ่งข้อมูลในการรักษาสัตว์เลี้ยงพบว่า เมื่อพบสัตว์ป่วย หากได้รับการรักษาที่เหมาะสม จะทำให้อัตราการรอดชีวิตสูง
ทั้งนี้ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชมอบนโยบายให้นำต้นแบบ “ห้องพยาบาล-คลังยา” ในอุทยานแห่งชาติกุยบุรีขยายผลไปยังพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษโรคอุบัติใหม่ในสัตว์ป่าอื่นๆ ได้แก่ พื้นที่ป่ามรดกโลกแก่งกระจาน ป่ามรดกโลกห้วยขาแข้ง ป่ามรดกโลกเขาใหญ่ – ดงพญาเย็น และพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด รวมถึงพื้นที่อื่นซึ่งมีสัตว์ที่มีความเสี่ยงต่อโรคลัมปี สกินและโรคติดต่ออุบัติใหม่อื่นๆ ด้วย. – สำนักข่าวไทย