กรุงเทพฯ 16 ก.พ. – กพช.ประชุมชี้ขาดโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่พรุ่งนี้ ด้านเอกชน-นักวิชาการออกโรงหนุน เรียกร้องนายกฯ กล้าตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของประเทศ ส่วนโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ กระทรวงพลังงานเปลี่ยนใจกลับมาหนุนใช้วิธีจับสลากเช่นเดิม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าความเคลื่อนไหวก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ( กพช.) วันพรุ่งนี้ (17 ก.พ.) เพื่อตัดสินใจว่าจะยุติหรือเดินหน้าแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โดยวันนี้นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้หารือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ต่างเห็นพ้องภาคใต้จำเป็นต้องเกิดโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงถ่านหินสะอาด ขณะที่นักวิชาการด้านพลังงานจากหลายมหาวิทยาลัยยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลขอให้กล้าตัดสินใจอนุมัติการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ ส่วนโครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์และราชการ ทางกระทรวงพลังงานจะเปิดดำเนินการต่อ จึงยังไม่เสนอ กพช.พรุ่งนี้ยุติโครงการ โดยในส่วนของโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ 119 เมกะวัตต์ จะยังคงใช้วิธีเปิดจับสลากต่อไป ส่วนโซลาร์ฟาร์มราชการกำลังทบทวนใหม่หลังพบว่าองค์การทหารผ่านศึกสามารถดำเนินโครงการได้
นายอารีพงศ์ เปิดเผยว่า ภาคเอกชนเห็นร่วมกันถึงความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานที่ความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว เนื่องจากถือเป็นเชื้อเพลิงที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากมีราคาที่ไม่ผันผวน ส่วนการจัดการด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดที่ได้ใช้ระบบ Ultra Super Critical (USC) ไม่เกิดผลกระทบต่อภาพรวมการท่องเที่ยวและวิถีชีวิตของชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
นายอารีพงศ์ กล่าวด้วยว่า กระทรวงฯ ส่งเสริมพลังงานทดแทนในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งการผลิตปาล์มน้ำมัน และชีวมวล โดยมีนโยบายรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กแบบผสมผสานในรูปแบบสัญญาเสถียร หรือ SPP Hybrid Firm และการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมากแบบสัญญาเสถียรตามช่วงเวลาหรือ VSPP Semi-Firm ซึ่งจะช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังานในพื้นที่ภาคใต้เสริมจากการสร้างโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ซึ่งหลักเกณฑ์จะเสนอ กพช.พรุ่งนี้
นายรัมย์ เหราบัตย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กพช.คงต้องดูแลเรื่องพลังงาน โดยต้องดูถึงการกระจายความเสี่ยงเชื้อเพลิง มีความมั่นคง และดูถึงต้นทุนราคาเพื่อให้อุตสาหกรรมไทยแข่งขันได้และประชาชนไม่รับภาระค่าไฟฟ้ามากเกินไป ส่วนเรื่องพลังงานลมในพื้นที่เช่าจากสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรกรรม (ส.ป.ก.) ที่บริษัทเช่า 2 โครงการในจังหวัดนครราชสีมานั้น บริษัทมั่นใจจะไม่ถูกยกเลิกโครงการ เพราะปฏิบัติตามวัตถุประสงค์การใช้ดินของ ส.ป.ก.โดยมีการช่วยเหลือยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรในพื้นที่ทั้งจ่ายค่าเช่าตรงและทำโครงการพัฒนาด้านอื่น ๆ
ส่วนที่ทำเนียบรัฐบาล นายภิญโญ มีชำนะ แกนนำเครือข่ายนักวิชาการสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ มีรายชื่อนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวทยาลัย, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหิดล และนักวิชาการอิสระร่วมด้วย ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี โดยเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีตระหนักถึงความจำเป็นของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และมีความกล้าหาญที่จะใช้อำนาจตัดสินใจ เพื่ออนาคตที่ดีของประเทศและประโยชน์ของประชาชน เพราะหากโรงไฟฟ้าแห่งนี้ไม่เกิดขึ้นก็มีความเสี่ยงไฟฟ้าในภาคใต้จะไม่พอใช้ขั้นรุนแรงอาจมีปัญหาไฟดับเป็นบริเวณกว้างหรือ BLACK OUT ได้ ซึ่งจากการศึกษาแผนการก่อสร้างพบว่าโครงการแทบจะไม่ได้ก่อปัญหาต่อส่งแวดล้อม ต่อการท่องเที่ยว และต่อสังคมอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด
นายเจน นำชัยศิริ ประธาน ส.อ.ท. เปิดเผยว่า ภาคเอกชนเห็นด้วยให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่จังหวัดกระบี่ ล่าสุดภาคใต้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 หากไฟฟ้าไม่เพียงพอกับความต้องการ เกิดไฟดับ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อจีดีพีภาคใต้ถึงร้อยละ 1 และตอนนี้รัฐบาลกำลังประกาศขยายการลงทุน ทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา การสร้างนิคมอุตสาหกรรมยางพาราภาคใต้ (รับเบอร์ ซิตี้) จึงควรจะมีไฟฟ้าบริการมั่นคงเพียงพอต้นทุนแข่งขันได้.-สำนักข่าวไทย