กรุงเทพฯ 13 ก.พ. – ค่าไฟแพงคนติดโซลาร์รูฟท็อปกระฉูด กกพ.ปรับแผนปริมาณรับซื้อ ด้าน กพช.เห็นชอบแนวทางให้ ปตท.ปรับแผนก๊าซฯ ช่วยลดค่าไฟฟ้าประชาชน 4.3 พันล้านบาท พร้อมปรับเม็ดเงินลงทุน ปตท. โครงการท่อก๊าซฯ บางปะกง-โรงไฟฟ้าพระนครใต้ จากลงทุน 11,000 ล้านบาท เป็น 13,590 ล้านบาท
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า จากค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนให้ความสนใจร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา สำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านที่อยู่อาศัย (โซลาร์ภาคประชาชน) เป็นจำนวนมาก และเสนอขายเกินกรอบเป้าหมายปี 2565-2566 ครบ 20 เมกะวัตต์แล้ว ดังนั้น คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อเร็วๆ นี้ จึงได้เห็นชอบให้กำหนดกรอบการรับซื้อเป็นปี 2565-2573 รวมเป็น 90 เมกะวัตต์ เพื่อให้มีการตอบรับการซื้อไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบแนวทางบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้ากลุ่มเปราะบางในช่วงวิกฤติพลังงาน โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบการปรับปรุงแนวทางการให้ความร่วมมือของ ปตท. ในการให้ความช่วยเหลือเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2566 วงเงินช่วยเหลือจะอยู่ที่ประมาณ 4,300 ล้านบาท และให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สามารถนำต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติที่ลดลงดังกล่าวไปใช้ในการลดค่าไฟฟ้าแก่กลุ่มเปราะบางข้างต้น โดยมอบหมายให้ กกพ. กำกับดูแลการดำเนินการต่อไป
ที่ประชุม กพช. ยังมีมติเห็นชอบให้ปรับวงเงินลงทุนโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกจากบางปะกงไปโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ของ ปตท. ที่ กพช.ได้อนุมัติไว้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 จากเดิมวงเงินลงทุน 11,000 ล้านบาท เป็น 13,590 ล้านบาท เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในส่วนของพื้นที่และวิธีการวางท่อก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีผลทำให้ต้นทุนในการดำเนินโครงการปรับเพิ่มสูงขึ้น และมอบหมายให้ กกพ. พิจารณาการส่งผ่านภาระการลงทุนโครงการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่ออัตราค่าบริการไฟฟ้าและค่าบริการก๊าซธรรมชาติในอนาคต ไปยังผู้ใช้พลังงานได้เท่าที่จำเป็นและสอดคล้องกับเหตุผลของการปรับเพิ่มวงเงินลงทุน
กพช. ยังได้มีการพิจารณาถึงแนวทางการดำเนินการตามข้อแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีมติเห็นชอบแนวนโยบายในการกำกับดูแลการผลิตไฟฟ้าที่ดำเนินการโดยภาครัฐ ตามแนวทางการดำเนินการตามข้อแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ และได้มีมติเห็นชอบให้ใช้ดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (Loss of Load Expectation : LOLE) เป็นเกณฑ์วัดความมั่นคงของระบบไฟฟ้า แทนการใช้กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin)
นอกจากนี้ กพช. ยังได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการการส่งเสริมอุตสาหกรรมระบบกักเก็บพลังงานประเภทแบตเตอรี่ของประเทศไทย พ.ศ. 2566-2575 ที่มีเป้าหมายพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ให้เป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตามแนวทางของอุตสาหกรรม New S Curve ของประเทศไทย ที่มอบหมายให้คณะกรรมการส่งเสริมเทคโนโลยีระบบการกักเก็บพลังงาน กำกับติดตามการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการการส่งเสริมอุตสาหกรรมระบบกักเก็บพลังงานประเภทแบตเตอรี่ของประเทศไทย พ.ศ. 2566-2575 และรายงานต่อ กพช. ทราบต่อไป. – สำนักข่าวไทย