เชียงใหม่ 17 ก.พ.- สดร.ชวนชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ค่ำนี้อย่าพลาด ดาวศุกร์ หรือดาวประจำเมือง สว่างที่สุดในรอบปีเป็นครั้งแรก เห็นด้วยตาเปล่า ชัดทั่วไทย และจะเกิดอีกครั้งปลายเมษายน
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. เปิดเผยว่า ค่ำวันนี้ (17 ก.พ.) อย่าพลาดชมปรากฏการณ์ความงดงามทางดาราศาสตร์ที่หาชมได้ไม่บ่อยนักได้ทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ เวลาประมาณ 18.30-20.30 น. ดาวศุกร์จะปรากฏสว่างสุกใสที่สุดในรอบปีครั้งแรก ทุกพื้นที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนในทุกภูมิภาคของประเทศไทย และจะมีอีกครั้งในวันที่ 30 เมษายนนี้ ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น เวลาประมาณ 04.00-06.00 น. คนไทยมักเรียกว่า “ดาวประจำเมือง” และ“ดาวประกายพรึก” ซึ่งจะมีความสว่างปรากฏถึงแมกนิจูด -4.6 เทียบจากระดับของความส่องสว่างปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวง แมกนิจูด -12.6 หากสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ ดาวศุกร์จะปรากฏเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะดาวศุกร์โคจรรอบดวงอาทิตย์ และขณะที่ดาวศุกร์อยู่ด้านหลังดวงอาทิตย์ แม้จะปรากฏเกือบเต็มดวง แต่ก็อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มาก ทำให้ผู้สังเกตบนโลกเห็นว่ามีขนาดเล็กและส่งผลให้ดาวศุกร์สว่างน้อย เมื่อเวลาผ่านไปดาวศุกร์จะโคจรเข้ามาใกล้โลกมาก จึงทำให้สังเกตเห็นดาวศุกร์มีลักษณะเป็นเสี้ยว แต่ด้วยขนาดที่ใหญ่ขึ้นก็ทำให้มีความสว่างปรากฏมากที่สุด (greatest brilliancy) และเมื่อเข้ามาใกล้โลกมากเกินกว่านั้น พื้นที่สะท้อนแสงจากดาวศุกร์จะลดลง ความสว่างก็ลดลงตามไปด้วย
“เฟสของดาวศุกร์จะปรากฏเป็นคาบทุก ๆ 1 ปี 7 เดือน เส้นสีฟ้าในกราฟคือ ระยะห่างจากโลกถึงดาวศุกร์ ส่วนเส้นสีเหลืองคือความสว่าง (แมกนิจูด) ของดาวศุกร์ที่ผู้สังเกตบนโลกมองเห็นได้ ดาวศุกร์จะปรากฏอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุดได้ถึง 47.8 องศา เราจึงสังเกตได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น หรือหลังดวงอาทิตย์ตกเท่านั้น”
ดร.ศรัณย์ อธิบายว่า ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 2 ในระบบสุริยะ อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลก สามารถเห็นด้วยตาเปล่าได้ง่าย เพราะดาวศุกร์มีความสว่างมาก ดาวศุกร์จะปรากฏอยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์เช่นเดียวกับดาวพุธ เนื่องจากทั้งสองเป็นดาวเคราะห์วงในเหมือนกัน.-สำนักข่าวไทย