ภูมิภาค 8 ธ.ค. – ประชาชนหลายพื้นที่แห่ชมปรากฏการณ์ดาวศุกร์ส่องสว่างที่สุดในรอบปี 2564 โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดหอดูดาว 3 จุด ให้ประชาชนเข้าชมฟรี ภายใต้มาตรการควบคุมโควิด-19
ชาวเชียงใหม่ในหลายพื้นที่ให้ความสนใจเฝ้ารอชมปรากฏการณ์ดาวศุกร์ส่องสว่างสุดส่งท้ายปี ซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันตก โดยที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม ได้ตั้งกล้องโทรทรรศน์ให้ประชาชนสังเกตการณ์ดาวศุกร์ และวัตถุบนท้องฟ้า หลายคนบอกว่า ดีใจที่มีโอกาสได้ดูดาวศุกร์ส่องสว่างที่สุดในรอบปี เพราะเป็นดาวที่สวยงามและสว่างที่สุด
ข้อมูลจากนักดาราศาสตร์ ระบุว่า ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ที่สว่างที่สุดในท้องฟ้า โดยตำแหน่งของดาวศุกร์ที่ปรากฏบนท้องฟ้า อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ไม่เกิน 47 องศา ทำให้เรามองเห็นดวงศุกร์ได้ในระยะเวลาสั้นๆ หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า หรือก่อนพระอาทิตย์ขึ้นเท่านั้น แต่ในวันนี้เป็นช่วงที่ดาวศุกร์มีขนาดเสี้ยวค่อนข้างใหญ่ และโคจรห่างจากโลกในระยะที่เหมาะสม จึงมองเห็นแสงสว่างได้มากกว่าวันอื่นๆ
ส่วนที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา นครราชสีมา ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ผู้ปกครองต่างพาบุตรหลานมาชมปรากฏการณ์ดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปี ซึ่งเปิดให้เข้าชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ต้องอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยเจ้าหน้าที่ได้นำกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายสูง 7 ตัว มาให้บริการส่องดูดาวศุกร์ที่มีขนาดเสี้ยวค่อนข้างใหญ่ และโคจรห่างจากโลกในระยะที่เหมาะสม มีค่าอันดับความสว่างปรากฏมากถึง -4.6 หากสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ ดาวศุกร์จะปรากฏเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ สร้างความประทับใจแก่เด็กๆ และนักท่องเที่ยวอย่างมาก ท่ามกลางสภาพอากาศหนาวเย็น นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถส่องกล้องโทรทรรศน์ มองเห็นดาวเสาร์ และดาวพฤหัสบดี ที่อยู่ในวงโคจรใกล้เคียงกันด้วย
ขณะที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา ก็เปิดให้ประชาชนเข้าชมดาวศุกร์เช่นกัน
สำหรับ “ดาวศุกร์” เป็นดาวเคราะห์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้า และเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ ลำดับที่ 2 ถัดจากดาวพุธ มีวงโคจรใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลก ซึ่งหากดาวศุกร์ปรากฏบนฟ้าในช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า คนไทยจะเรียกว่า “ดาวประจำเมือง” แต่หากดาวศุกร์ปรากฏในช่วงเช้ามืดทางทิศตะวันออก ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น คนไทยจะเรียกว่า “ดาวประกายพรึก” ส่วนชื่อของดาวศุกร์ในภาษาอังกฤษ มีชื่อเรียกว่า “Venus” (วีนัส) มีที่มาจากเทพีแห่งความรักในเทพปกรณัมโรมัน ส่วนในภาษาไทย มาจากเทพพระศุกร์ หรือ ศุกระ ผู้เป็นครูของมารและเป็นเทพแห่งความงาม. – สำนักข่าวไทย