กรุงเทพฯ 17 ก.พ. – นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความเป็นห่วงสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูแล้งและช่วงต้นฤดูฝน เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าฤดูฝนปีนี้มีแนวโน้มว่าฝนอาจมาล่าช้า ซึ่งอาจจะกระทบการทำการเกษตรกรรมของพี่น้องเกษตรกร และจากการติดตามพบว่าวันนี้ (17 ก.พ.) น้ำต้นทุนที่เก็บกักไว้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 25,016 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 49 เท่านั้น ขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีน้ำใช้การได้จาก 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน รวม 7,412 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 41 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขื่อนภูมิพลมีน้ำใช้การได้เพียง ร้อยละ 29
ทั้งนี้ หากพิจารณาเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศที่น้ำใช้การอยู่ในเกณฑ์ต่ำ คือ น้อยกว่าร้อยละ 30 มี 2 แห่ง คือ เขื่อนภูมิพล ร้อยละ 29 และเขื่อนลำตะคอง ร้อยละ 27 กรมชลประทานจึงได้ประสานกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อร่วมกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำต้นทุน 2 เขื่อนดังกล่าวแล้ว ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตรเตรียมพร้อมหน่วยเคลื่อนที่เร็วพร้อมปฏิบัติการทันทีที่สภาพอากาศเอื้ออำนวย นอกจากนี้ จากการคาดการณ์สภาพอากาศจะสามารถปฏิบัติการฝนหลวงเต็มกำลังครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศต้นเดือนมีนาคม 2560 เป็นต้นไป.-สำนักข่าวไทย