กทม. 3 มิ.ย.-เตือน! อย่าหลงเชื่อ 2 ข่าวลวงใหม่ ฟ้าทะลายโจรป้องกันโควิด-แอปฯ เป๋าตังกู้เงินได้ ด้าน สสส. เปิดรายงานครบรอบ 1 ปี นวัตกรรม “โคแฟค” มีผู้เช็กข่าวลวงสุขภาพกว่า 1.3 แสนราย พบประชาชนแก้ข่าวปลอม 4,048 ครั้ง ชี้กลุ่มไลน์-อคติส่วนตัว ต้นตอข่าวลวงระบาด
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ละระลอก มาพร้อมกับการระบาดของข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดข่าวลวงประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะแพร่กระจายในสื่อออนไลน์ทั่วโลก สสส. เห็นความสำคัญของปัญหา ได้ร่วมจุดประกายความคิดให้เกิดนวัตกรรมโคแฟค (Collaborative Fact Checking : Cofact) แพลตฟอร์มบนสื่อออนไลน์ที่เป็นพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงด้านสุขภาพ ผ่านเว็บไซต์ cofact.org และโปรแกรมการพูดคุยอัตโนมัติ (Chatbot) ไลน์ @cofact ซึ่งขณะนี้ครบรอบ 1 ปี มีพันธมิตรเครือข่ายทุกภาคส่วนร่วมทำงาน 39 องค์กร เกิดเป็นชุมชนโคแฟคที่ประชาชนทุกกลุ่มวัยเข้ามาตรวจสอบข่าวลวงร่วมกัน 136,668 คน แบ่งเป็น ผู้ใช้งานเว็บไซต์ 131,333 คน และผู้ใช้งานโปรแกรมแชทบอท 5,335 คน
ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปี ของการมีนวัตกรรมโคแฟค พบว่า ปัญหาการแพร่ระบาดข่าวลวงในประเทศไทยเกิดจาก 2 สาเหตุ คือ 1.การสื่อสารในแอปพลิเคชันไลน์ในรูปแบบห้องสนทนาวงปิด ทำให้ยากต่อการตรวจสอบและป้องกันการแพร่ระบาด เช่น กลุ่มครอบครัว ที่ทำงาน มักมีความเกรงใจ ไม่กล้าเตือนว่าผิด 2.การมีอคติ เลือกแชร์ตามความเชื่อเพียงเพราะตรงกับทัศนคติของตัวเอง โดยไม่ได้ตรวจสอบที่มา ข้อเท็จจริง ทางออกของการแก้ไขปัญหาการระบาดของข่าวลวงที่ยั่งยืนคือ ผู้ใช้สื่อจำเป็นที่จะต้องมีวัฒนธรรมการเป็นผู้ตรวจสอบข้อมูลด้วยตนเองเบื้องต้น (Fact-checker) ไม่แชร์ข่าวที่ตรวจสอบแล้วว่าเป็นเท็จ พร้อมแจ้งข่าวลวงเข้าแพลตฟอร์มออนไลน์นวัตกรรมโคแฟค และเป็นผู้นำข้อความแก้ไขข่าวลวง (Corrector) ไปโพสต์ในห้องสนทนาที่พบการกระจายข่าวลวง ส่งผลให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และทักษะพลเมืองที่รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงในโลกแห่งการสื่อสารในยุคดิจิทัล
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค ประเทศไทย กล่าวว่า ผลการสำรวจผู้เข้าใช้งานนวัตกรรมโคแฟค เดือนเมษายน 2563-เดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า ผู้เข้าใช้งานเว็บไซต์โคแฟค 131,333 คน แบ่งเป็นกลุ่มอายุ 18-24 ปี 27.5% อายุ 25-34 ปี 33.5% อายุ 35-44 ปี 15.5% อายุ 45-54 ปี 12.5% อายุ 55-64 ปี 5.5% และอายุมากกว่า 65 ปี 5.5% มีส่วนร่วมแก้ไขข้อมูลและเผยแพร่ข้อเท็จจริงถึง 4,048 ครั้ง ขณะที่สถิติการเข้าชมข่าวอินโฟกราฟิก 5 ข่าวลวงวนซ้ำที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ได้แก่ 1.คลิปเสียงปลอมของคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แจ้งวิธีปฏิบัติตัวในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ขอให้คนไทยล็อกดาวน์ตัวเอง 2.มะนาวโซดาฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้ 3.เลือดเป็นด่างทำให้โอกาสติดโควิด-19 น้อยลง 4.พัสดุไปรษณีย์เป็นแหล่งแพร่เชื้อโควิด-19 และ 5.ยืนตากแดดฆ่าโควิด-19 ในร่างกายได้ มีการเข้าถึง 133,016 ครั้ง และร่วมแสดงความคิดเห็น 21,868 ครั้ง อย่างไรก็ตาม รัฐต้องสนับสนุนระบบข้อมูลเปิดในการตรวจสอบได้ง่าย สื่อมวลชนมีบทบาทช่วยตรวจสอบข่าวลือข่าวลวงทันท่วงที ส่วนแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์เพิ่มฟังก์ชั่นการเตือน ลบข่าว ที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นเท็จ และต้องสร้างการเรียนรู้ทักษะความรู้เท่าทันดิจิทัลในหลักสูตรการเรียน
นายชิตพงษ์ กิตตินราดร ผู้แทนทีมวิจัยนวัตกรรมโคแฟค กล่าวว่า ผลการสำรวจพบข่าวลวง 2 เรื่องใหม่ที่น่าห่วง คือ 1.ข่าวฟ้าทะลายโจรป้องกันการติดโควิด-19 ได้ มาจากคลิปบิดเบือนบนยูทูบ ข่าวลวงนี้กระจายบนเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตราแกรม โดยผู้เผยแพร่มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการขายสินค้า เมื่อโคแฟคตรวจสอบข้อมูลจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พบว่าฟ้าทะลายโจรเป็นอีกทางเลือกที่ได้รับการยอมรับและนำไปรักษาควบคู่กับแพทย์แผนปัจจุบัน โดยที่ผ่านมา ได้ศึกษาวิจัยฟ้าทลายโจรที่มีสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ในผู้ป่วยอาการไม่หนัก จำนวน 309 ราย พบว่า สามารถยับยั้งความรุนแรงของโควิด-19 ได้ แต่ยังไม่สามารถป้องกันโควิด-19 ได้ และ 2.ข่าวแอปพลิเคชันเป๋าตังค์ สามารถใช้เพื่อกู้เงินหรือยืมเงินสดได้ ข่าวลวงนี้ระบาดมาจากกลุ่มไลน์สนทนาแบบปิด โคแฟคได้ทำการตรวจสอบข้อมูลจากกระทรวงการคลัง พบว่า ไม่มีนโยบายให้สินเชื่อแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาปัญหาข่าวลวงและข่าวบิดเบือนอีกหลากหลายกรณีสามารถติดตามข้อมูลงาน “ถอดรหัสข่าวลวง: เปิดรายงานโคแฟค ที่มา ลักษณะข่าวลวงและข้อเสนอแนะ” (De-coding Disinformation: Cofact Original Report and Recommendations) ได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ Cofact.-สำนักข่าวไทย