ชลบุรี 26 พ.ค. – รัฐมนตรีพาณิชย์ นำคณะตรวจเยี่ยมท่าเรือแหลมฉบัง โดยเฉพาะเรือสินค้าขนาดใหญ่ หวังแก้ตู้สินค้าส่งออกขาดแคลน ช่วยส่งออกเพิ่มขึ้นกว่า 35,000 ล้านบาท หลังร่วมมือพาณิชย์-ภาคเอกชน-กรมเจ้าท่า
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตรวจเยี่ยมเรือสินค้า MSC Amsterdam และให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้า ณ ท่าเรือแหลมฉบัง อําเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยในปี 2564 ตัวขับเคลื่อนสำคัญคือการส่งออก และต้นปีนี้การส่งออกก็เป็นบวก ซึ่งล่าสุดในเดือนเมษายน บวกถึงร้อยละ 13.09 และยังมีแนวโน้มที่ดีขึ้น การส่งออกเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ การแก้ปัญหาการส่งออกจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ การส่งออกประกอบด้วยการขนสินค้าทางบก ทางอากาศ และทางเรือ การขนส่งสินค้าทางเรือมีประเด็นปัญหา คือ ตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าเพื่อลงเรือส่งออกขาดแคลน เนื่องจากก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 มีการส่งสินค้าไปสหรัฐและสหภาพยุโรปจำนวนมาก แต่ส่งสินค้ากลับมาน้อย ตู้ไปค้างอยู่ที่สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป แต่ประเทศจีนมีศักยภาพสามารถนำตู้ไปใช้ในการส่งออกได้มาก
สำหรับประเทศไทย เมื่อผมได้ประชุม กรอ.พาณิชย์ การท่าเรือร่วมกับภาคเอกชนมาโดยใกล้ชิด ได้ข้อสรุปว่า จากนี้ไปเราจะแก้ปัญหาโดยจะเปิดโอกาสให้เรือขนาดใหญ่เข้ามาแหลมฉบัง ให้เรือขนาด 300-400 เมตร เข้ามาเทียบท่าได้ จะช่วยให้สามารถไปปลายทางได้เลย ช่วยลดต้นทุน สามารถขนตู้เปล่าและตู้ที่มีสินค้าเข้ามา จะมีตู้เปล่าที่ส่งสินค้าออกได้มากขึ้น
ทั้งนี้ หลังจากที่เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้การท่าเรือแก้ประกาศใหม่อนุญาตให้เรือ 300-400 เมตร เข้าเทียบท่าได้ มีมาหลายลำแล้ว ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564, 17 เมษายน 2564, 20 เมษายน 2564 และวันที่ 5 พฤษภาคม เป็นลำใหญ่ขนาด 399 เมตร สามารถบรรทุกตู้เข้ามาได้ประมาณ 12,000 ตู้ และวันนี้เรือสินค้า MSC Amsterdam ขนาด 399 เมตร บรรทุกตู้เปล่าเข้ามาได้ประมาณ 4,000 ตู้ สามารถบรรจุสินค้าลงไปได้ประมาณ 80,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าสินค้าที่ส่งออกประมาณ 6,000 ล้านบาท และยังมีอีก 2 ลำ ที่จะเข้ามาวันที่ 2 มิถุนายน 395 เมตร และ 19 มิถุนายน 398 เมตร
อย่างไรก็ตาม รวมแล้วทั้งหมดจะเป็น 7 ลำ สามารถบรรทุกตู้เปล่าเข้ามาประมาณ 23,000 ตู้ สามารถขนสินค้าออกไปได้ประมาณ 458,000 ตัน รวมมูลค่าให้การส่งออกเพิ่มขึ้นจากการได้ตู้เปล่าประมาณ 35,000 ล้านบาท คือผลที่เป็นรูปธรรมจากการร่วมกันแก้ปัญหาระหว่างกระทรวงพาณิชย์ ภาคเอกชน และกรมเจ้าท่า ขณะนี้ตู้เริ่มเข้าสู่สภาวะสมดุล ความต้องการใช้ตู้เปล่าเดือนหนึ่งประมาณ 128,000 ตู้ เรามีตู้ประมาณ 130,000 ตู้ เริ่มเข้าสู่สภาวะสมดุลแล้ว แต่ต้องติดตามสถานการณ์ และกรมเจ้าท่าต้องอำนวยความสะดวกโดยเร็วที่สุด เปิดโอกาสให้เรือขนาดใหญ่นำตู้เปล่าเข้ามา และเราส่งสินค้าออกไปได้มากขึ้น จะช่วยให้ตัวเลขส่งออกของเราเป็นบวกได้ต่อ และจะเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ต่อไป
ทั้งนี้ เชื่อว่าศักยภาพการส่งออกสินค้าไทยไปต่างประเทศยังมีเพิ่มขึ้น ภาคเอกชนสายการเดินเรือต้องเข้ามาช่วยในการจัดหาตู้ และกรมเจ้าท่าต้องอนุญาตโดยเร็วในการดำเนินการ และได้มีประกาศใหม่ให้ใบอนุญาตสำหรับเรือขนตู้ขนาด 300-400 เมตร ภายในเวลา 2 ปี แต่ตนจะไปเจรจาว่า ทำไมไม่เป็นตลอดไป เพราะการส่งออกยังเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญ หากจำเป็นต้องปรับปรุงร่องน้ำ หรือปรับปรุงอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ก็จะต้องลงทุนเพิ่มเติม เพื่อแลกกับตัวเลขการส่งออกที่นำรายได้เข้าประเทศ ตนเชื่อว่าคุ้มแน่นอน. – สำนักข่าวไทย