กรุงเทพฯ 25 พ.ค.- “ศักดิ์สยาม” ดันกฎหมายเรียกรถยนต์รับจ้างส่วนบุคคล ผ่านแอปพลิเคชัน ผ่าน ครม.แล้ว คาดใช้เวลาอีก 30 วัน ออกกฎกระทรวงฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (25 พฤษภาคม 2564 )มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน7 คนผ่านระบบอิเล็คทรอนิกส์ พ.ศ…. ตามที่กระทรวงคมนาคมได้เสนอ ซึ่งหลังจาก ครม. อนุมัติแล้วจะทำให้ประชาชนที่มีรถยนต์ส่วนบุคคลและต้องการนำมาบริการเป็นรถสาธารณะสามารถนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาขึ้นทะเบียนเพื่อใช้เป็นรถสาธารณะให้บริการแก่ผู้โดยสารผ่านแอปพลิเคชันโดยถูกกฎหมาย กับกรมการขนส่งทางบกได้
“สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จะต้องออกประกาศกําหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข การรับรองผู้ให้บริการ และแอปพลิเคชั่น ที่จะนํามาให้บริการ ตามฐานอํานาจที่กําหนดในร่างกฎกระทรวงฯ โดยจะรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน หรือ 30 วัน ซึ่งกฎกระทรวงฯ นี้ จะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ต่อไป “ นายศักดิ์สยามกล่าว
สำหรับหลักเกณฑ์ในการขึ้นทะเบียนประกอบด้วยเป็นรถที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 9 ปี โดยขนาดของรถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทได้แก่ ขนาดเล็กเครื่องยนต์ 50 ถึง 90 KW เช่น รถยนต์รุ่นมาร์ช วีออส ซิตี้และมิราจ รถยนต์ขนาดกลางเครื่องยนต์ 90 ถึง 120 KW เช่น รถยนต์ รุ่น อัลติส ซีวิส และรถยนต์ขนาดใหญ่เครื่องยนต์มากกว่า 120 KW เช่น รถยนต์รุ่นแอคคอร์ด ฟอร์จูนเนอร์ ฯลฯ
นอกจากนี้มีการกำหนดลักษณะของรถที่ขึ้นทะเบียนว่า เป็นรถเก๋ง รถแวน2 ตอน หรือ 3 ตอน ก็ได้ มีการทำประกันภัยเพิ่มเติมเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้โดยสาร รวมทั้งติดเครื่องหมายแสดงการใช้แอปพลิเคชัน
ทั้งนี้ในส่วนของคนขับรถนั้น กำหนดให้จะต้องมีใบขับขี่สาธารณะ และผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และใช้แอปพลิเคชันของผู้ให้บริการแอปพลิเคชันที่ผ่านการรับรองจาก ขบ. ขณะที่ อัตราค่าโดยสาร จะแบ่งเป็น รถขนาดเล็ก, กลาง มีค่าโดยสารไม่เกินอัตราของรถแท็กซี่ในปัจจุบัน ด้านรถขนาดใหญ่ มีค่าโดยสารไม่เกินอัตราของรถแท็กซี่ VIP ในปัจจุบัน โดยสามารถมีค่าบริการเพิ่มเติมกรณีอื่นได้ แต่ต้องไม่เกิน 200 บาท ทั้งนี้ รัฐมนตรีฯ จะเป็นผู้ประกาศกำหนดอัตราค่าโดยสาร
นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า สำหรับรายละเอียดของแอปพลิเคชันนั้น จะต้องเป็นแอปพลิเคชันสําหรับเรียกใช้บริการรถยนต์รับจ้างฯ ในส่วนของผู้ขับรถ (Driver Application) จะต้องมีระบบยืนยันตัวตน เช่น Pin Code, Fingerprint, Face Scan เป็นต้น อีกทั้งมีระบบคํานวณเส้นทาง ระยะเวลา และค่าโดยสารโดยประมาณ มีระบบรับส่งข้อความ/โทรศัพท์กับผู้โดยสาร ในส่วนของผู้โดยสาร (Passenger Application) จะมีระบบลงทะเบียนผู้โดยสาร ระบบเรียกใช้งานรถยนต์รับจ้างแบบทันทีและแบบจองล่วงหน้า รวมถึงมีระบบคํานวณเส้นทาง ระยะเวลา และค่าโดยสารโดยประมาณ ระบบประเมินความพึงพอใจต่อผู้ขับรถ และระบบแจ้งเหตุฉุกเฉิน
สำหรับคุณสมบัติของผู้ให้บริการแอปพลิเคชันนั้น จะต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย มีทุนจดทะเบียนตามที่กำหนดในประกาศ (ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท) และต้องมีสถานที่ประกอบการในประเทศไทย รวมถึงมีความพร้อมในการให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง และต้องไม่เคยถูกเพิกถอนในการได้รับอนุญาตเป็นผู้ให้บริการระบบ GPS ตามกฎหมายของ กรมการขนส่งทางบก.-สำนักข่าวไทย