กรุงเทพฯ 21 ก.พ.-หลัง กทม.ยกเลิกให้บริการเดินรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ หรือรถบีอาร์ที เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากหลายภาคส่วน กทม.จึงต้องทบทวนคำสั่ง จัดทำแบบสอบถามสำรวจความคิดเห็นประชาชนทุกกลุ่ม ก่อนหมดสัญญาสิ้นเดือนเมษายนนี้
คำตอบส่วนหนึ่งของคำถามในแบบสำรวจความคิดเห็นกลุ่มประชาชนผู้ใช้บริการรถโดยสารบีอาร์ที สะท้อนว่าเดือดร้อนมากที่สุด หาก กทม.ยกเลิกให้บริการบีอาร์ที ยอมจ่ายค่าโดยสารเพิ่มมากขึ้น เพื่อแลกกับปัญหารถติดช่วงเวลาเร่งด่วน
ทีมข่าวได้สำรวจบรรยากาศภายในรถบีอาร์ที มีให้บริการ 20 ที่นั่ง เวลาเร่งด่วนสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 80 คน/เที่ยว และที่สำคัญจำกัดความเร็วอยู่ที่ 60 กม./ชม. ทำให้ผู้ใช้บริการมั่นใจในความปลอดภัย
กทม.ประเดิมสำรวจความเห็นจาก 2 กลุ่มหลัก คือ ผู้ใช้บริการรถโดยสารบีอาร์ที และผู้ใช้รถใช้ถนน กลุ่มละ 1,000 ชุด กระจายตามแยกต่างๆ ที่บีอาร์ทีวิ่งผ่าน ทีมข่าวลงพื้นที่ร่วมสังเกตการณ์พบผู้ใช้รถใช้ถนนบางส่วน ระบุหากยกเลิกการจราจรย่านนี้ไม่ต่างจากเดิม
แต่ละวันบีอาร์ทีมีผู้ใช้บริการกว่า 20,000 ราย ส่งผลให้รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกมาให้ความเห็นว่าไม่ควรยกเลิก ทำให้ กทม.ต้องทบทวนคำสั่งจัดทำแบบสอบถาม 4,000 ชุด แบ่งออกเป็น 9 กลุ่ม หวังครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ใกล้เคียง คาดสำรวจแล้วเสร็จภายใน 7 วัน สรุปผลไม่เกินสิ้นเดือนกุมภาพันธ์
โครงการบีอาร์ที สายสาทร-ราชพฤกษ์ ให้บริการเดินรถช่องทางพิเศษบนถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ถึงถนนรัชดาภิเษก-ท่าพระ ระยะทางเกือบ 16 กิโลเมตร มีจุดจอดรับ-ส่งผู้โดยสาร 12 สถานี ตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 59 ได้ปรับอัตราค่าโดยสารจากเดิม 5 บาทตลอดสาย เป็นแบบเก็บตามโซน ทำให้มีราคา 2 อัตรา คือ 5บาท และ 10บาท แต่ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาขาดทุนสะสมปีละ 200 ล้านบาท
บีอาร์ที ที่ริเริ่มสมัยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าฯ กทม. ทุ่มทุนกว่า 2,000 ล้านบาท ให้บริการมากว่า 7 ปี จะปิดฉากลงหรือไม่ คงต้องรอให้คน กทม.เป็นผู้ชี้ชะตา ก่อนหมดสัญญาเดือนเมษายนนี้.-สำนักข่าวไทย