กรุงเทพฯ 19 พ.ค.-หลังจากที่กองปราบปราม ได้ออกหมายจับ นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก พร้อมพวกอีก 6 คน ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน ในหลายรูปแบบ ผ่านการชักชวนให้มาร่วมลงทุน และหนึ่งในนั้น คือ การจองซื้อแพ็กเกจทัวร์โครงการ เที่ยวเพื่อชาติ วันนี้ ทีมข่าวสำนักข่าวไทย จะพาไปแกะรอย แผนโปรโมทดึงคนร่วมซื้อทัวร์ และเปิดใจผู้เสียหายที่สูญเงินร่วม 900,000 บาท ด้วยหลงเชื่อภาพลักษณ์ และหวังได้ผลตอบแทนดีตามที่โฆษณาผ่านสื่อต่างๆ
การแถลงข่าวเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ของโครงการ เที่ยวเพื่อชาติ เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ที่ชูแคมเปญ ชวนคนออกท่องเที่ยวหลังพิษโควิด-19 เพื่อช่วยประเทศให้รอดพ้นจากวิกฤติและกระตุ้นเศรษฐกิจในเวลาเดียวกัน ด้วยโปรโมชั่นจูงใจ จ่ายร้อยเที่ยวแสน ในระยะเวลา 3 ปี หากไม่เดินทางใน 38 วัน พร้อมคืนเงินและได้รับโบนัสร้อยละ 11.5 ถึงร้อยละ 15 การจองสิทธิมีจำนวนจำกัดรับทั้งเงินสด บัตรเครดิตและธุรกรรมออนไลน์ ทำให้เปิดตัวไม่ถึงชั่วโมง มียอดจองถล่มทลาย เกือบ 90,000 แพ็กเกจ
ด้วยภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือของ นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก ประธานโครงการคืนคุณแผ่นดิน และ พ.ท.พญ.อมราภรณ์ วิเศษสุข ประธานโครงการ “เที่ยวเพื่อชาติ” พร้อมคณะผู้บริหารที่มีสถานะทางสังคม ในนามสมาคมการค้าธุรกิจบริการและผลิตภัณฑ์ผสมผสาน ยิ่งเสริมความเชื่อมั่นดึงคนมาร่วมลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีเงินเย็น ต้องการดอกผลให้งอกเงย เพราะโครงการมีอายุยาวนานถึง 3 ปีสิ้นสุดเดือนกรกฎาคม ปี65
ผู้เสียหายรายหนึ่ง เปิดใจว่า ตนร่วมลงทุน ซื้อแพ็กเกจทัวร์ เที่ยวเพื่อชาติ ไปช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 63 เนื่องจากเพื่อนที่ลงทุนก่อนหน้านี้ ได้ผลตอบแทนจริง ตามที่มีการโฆษณาและตนได้ศึกษารายละเอียดโครงการ ตัวผู้บริหารว่ามีความน่าเชื่อถือ จึงตัดสินใจนำเงินเก็บก้อนแรก 1.6 แสนบาท มาลงทุน หวังให้เงินงอกเงยช่วงโควิดที่ทำมาหากินยากลำบาก ยอมรับไม่อยากเที่ยวจริง แต่อยากบริหารเงิน ซึ่งก้อนแรกที่ลุงทุนไปได้โบนัสคืนมา 30,000-40,000 บาท จึงตัดสินใจรูดบัตรเครดิต เพิ่มอีกหลายครั้ง รวมกว่า 900,000 บาท จากนั้นไม่ถึงเดือน ไม่สามารถติดต่อโครงการได้อีกเลย แม้จะชั่งใจอยู่บ้าง แต่ด้วยภาพลักษณ์โครงการจิตอาสา เพื่อสังคม เพื่อแผ่นดิน จึงเชื่อใจและกล้าลงทุน
นพขวัญ นาคนวล ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง เป็นอีกหนึ่งผู้เสียหาย ที่เชื่อในภาพลักษณ์ของนายประสิทธิ์ ที่ทำโครงการจิตอาสา ช่วยเหลือทัวร์ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จึงชวนมาเป็นสปอนเซอร์ร่วมสนับสนุน ในรายการข่าว ช่วยเหลือสังคมช่วงต้นปี 64 เซ็นสัญญา 6 เดือน ซึ่งเดือนแรกจ่ายปกติ แต่พอเข้าเดือนที่ 2 กลับบ่ายเบี่ยงอ้างว่าเศรษฐกิจไม่ดี และให้เลขาฯ แจ้งว่าไม่มีจ่าย และติดต่อไม่ได้ในที่สุด ตนจึงต้องนำเงินตัวเอง กว่า 100,000 บาท จ่ายค่าสปอนเซอร์แทน ไม่คิดจะมีผู้เสียหายจำนวนมากขนาดนี้ตกเป็นเหยื่อเช่นกัน
ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ต่างสะท้อนว่า ภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือของนายประสิทธ์ที่ รู้จักคนใหญ่คนโตในบ้านเมือง การแสดงตนว่าเป็นผู้กตัญญูรู้คุณแผ่นดิน รวมทั้งการมีภาพข่าวออกสื่อแขนงต่างๆทั้งเพจข่าวออนไลน์ที่มีผุ้ติดตามหลายล้านหรือรายการโทรทัศน์ชื่อดัง เป็นสิ่งที่ช่วยการันตีให้เหยื่อมั่นใจกล้าควักเงินในกระเป๋ามาลงทุน ซึ่งรวมมูลค่าความเสียหาย มากกว่าพันล้านบาทแล้วในขณะนี้.-สำนักข่าวไทย