สธ.19 พ.ค.-รมช.สาธารณสุข นำผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และสรพ. เยี่ยมชมระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ของสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี พัฒนาศักยภาพให้ดูแลผู้ป่วยโควิดอาการสีเหลืองได้ 234 เตียง เน้นผู้ป่วยโควิดติดยาเสพติดและมาเป็นครอบครัว
วันนี้ (19 พ.ค.)ที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) จ.ปทุมธานี นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.กิตตินันท์ อนรรฆมณี ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) ดร.ริชาร์ด บราวน์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานหอผู้ป่วยโควิด ฯ ของกรมการแพทย์
นายสาธิตกล่าวว่า วันนี้ได้เชิญผู้แทนองค์การอนามัยโลก และสรพ. มาเยี่ยมชมการดำเนินงานหอผู้ป่วยโควิดส่วนขยาย ฯ (Extended Cohort Ward) ของสบยช. ซึ่งเป็นโรงพยาบาลดูแลผู้ป่วยยาเสพติด ได้พัฒนาศักยภาพให้สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 กลุ่มสีเขียว (ไม่มีอาการ) และ สีเหลือง (มีอาการปานกลาง) ได้ โดยมีทีมปฏิบัติการฉุกฉินทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะภัยพิบัติ (Thailand Emergency Medical Team : Thailand EMT) วางระบบและแนวทางการรักษาให้กับทีมบุคลากรการแพทย์ที่มาปฏิบัติงาน ซึ่งระบบการบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยโควิด 19 เป็นจุดแข็งของประเทศไทย โดยที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามและ Hospitel (ฮอลพิเทล) เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด 19 อาการสีเขียวจำนวนมาก และเพิ่มจำนวนเตียงสำหรับรับผู้ป่วยโควิดอาการสีเหลือง
นายสาธิต กล่าวต่อว่า ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2564 สบยช. ได้เปิดหอผู้ป่วยโควิดเฉพาะกิจ (Cohort Ward) จำนวน 34 เตียง และได้เปิดหอผู้ป่วยโควิดส่วนขยาย (Extended Cohort Ward) เพิ่มอีก 200 เตียง เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 รวมทั้งหมด 234 เตียง รับผู้ป่วยโควิดที่ติดยาเสพติดและที่มาเป็นครอบครัว เนื่องจากมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านยาเสพติดและจิตแพทย์ โดยมีเครือข่ายบุคลากรโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในภูมิภาค 6 แห่ง และ โรงพยาบาลอื่นๆ ในกรมการแพทย์ มาร่วมดูแล เป็นที่มาของชื่อหอผู้ป่วยโควิดส่วนขยาย รวมทั้งมีเครือข่ายโรงพยาบาลมะเร็ง มูลนิธิร่วมกตัญญู มาร่วมดูแลด้วย
“ผู้ป่วยที่รับมาส่วนใหญ่อาการสีเหลืองและมีสีเขียวบางส่วน หากมีอาการสีแดงจะส่งต่อโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ ขณะนี้มีผู้ป่วยอาการสีแดงอยู่ 6 ราย ปัจจุบันดูแลผู้ป่วยโควิดแล้วประมาณ 472 ราย หายกลับบ้าน 223 ราย กำลังรักษา 226 ราย เหลือเตียงว่าง 8 เตียง ผู้ป่วยมีความประทับใจ มีความพึงพอใจมากกว่าร้อยละ 90” นายสาธิต กล่าว
ทั้งนี้ หอผู้ป่วยส่วนขยายฯ ใช้อาคารในส่วนของการประชุม อบรม สัมมนา ปรับเป็นหอผู้ป่วย 3 ชั้น ชั้นละ 60 กว่าเตียง มีสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์การใช้ชีวิตประจำวันสำหรับผู้ป่วยตลอด 14 วัน มีกล้องวงจรปิดดูแลตลอด 24 ชั่วโมง แต่ละชั้นมีช่องทางการสื่อสารกับผู้ป่วย ทั้งโทรศัพท์สายใน จุดบริการเว็บซิงค์ ช่วยให้เห็นหน้าคนไข้ สามารถสังเกตอาการเหนื่อยหอบขณะพูดคุยได้ มีการตั้งไลน์กลุ่มกับผู้ป่วย และมีพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ใส่ชุด PPE ครบถ้วนตามมาตรฐานเข้าไปสร้างความเข้าใจการทำกิจกรรมแต่ละวัน พร้อมแบ่งผู้ป่วยเป็นโซน มีหัวหน้าโซนต่อ 10 เตียง เพื่อช่วยสื่อสารเรื่องการทำความสะอาด การเก็บขยะ ห้องน้ำ การใช้แอร์หรือไฟฟ้า .-สำนักข่าวไทย