กรุงเทพฯ 18 พ.ค. – หอการค้าไทยระดมทีมค้าปลีกอัดฉีดสภาพคล่องช่วย SMEs เพื่อให้สามารถเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยได้ระดมความเห็นเพื่อนำเสนอแนวทางเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ด้วย Digital Transformation เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งเป็น 1 ในภารกิจ 99 วันแรกของหอการค้าไทย ในสภาวะวิกฤติโควิด-19 นี้ SMEs ขาดสภาพคล่องเป็นอย่างมาก และต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะ SMEs ขนาดเล็ก ทางหอการค้าไทยจึงทำหน้าที่ Connect the Dots ร่วมกันหารือกับคณะกรรมการของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และสมาคมศูนย์การค้าไทย และผู้บริหารระดับสูงจาก สมาชิกของสมาคมฯ ได้แก่ Central Retail, The Mall Group, Robinson, CP All, Siam Piwat, Makro, Lotus, Big C และ ตั้งงี่สุน เป็นตัวแทนในการหารือ พร้อมด้วยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม (สสว.) เพื่อช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสะดวก ทั่วถึง และรวดเร็ว
ทั้งนี้ โดยเล็งเห็นว่าผู้ประกอบการค้าปลีกต่างๆ มีความสัมพันธ์ที่ดี และมีประวัติการซื้อขายของ Supplier ซึ่งสามารถนำมาประกอบการใช้ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ได้ โดยมีแนวทางขับเคลื่อนในการให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนแยกเป็น 2 ประเภท ด้วยกัน คือ 1. เงินทุนเพื่อนำไปปรับปรุง และขยายกิจการ
1.1ผ่านสินเชื่อ Soft Loan ตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันเต็มวงเงิน ด้วยความร่วมมือจาก ภาครัฐ สถาบันการเงิน และผู้ประกอบการค้าปลีก ธนาคารพาณิชย์จะพิจารณาคุณสมบัติของ SMEs ด้วยข้อมูลที่ได้จากผู้ประกอบการค้าปลีกเพื่อใช้ในการพิจารณาอนุมัติตามเกณฑ์
1.2 ในกรณีไม่เข้าเงื่อนไขในการพิจารณาสินเชื่อ Soft Loan ตามข้อ 1.1 ธนาคารพาณิชย์จะพิจารณานำเสนอสินเชื่อประเภท Clean Loan ที่มีดอกเบี้ยต่ำใกล้เคียงกับ Soft Loan 2. เงินทุนหมุนเวียนเพื่อนำไปเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ 2.1 ธนาคารพาณิชย์ให้สินเชื่อ Factoring โดยตรงไปยัง SMEs โดยใช้ คำสั่งซื้อ และใบแจ้งหนี้จากผู้ประกอบการค้าปลีก เป็นหลักประกัน 2.2 ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการค้าปลีก เพื่อนำไปทำ Factoring โดยตรงให้กับ Supplier ในอัตราดอกเบี้ยเดียวกั
นอกจากนี้ เซ็นทรัลรีเทล (CRC) และ KBANK ได้เริ่มต้นแบบของ Sand Box ในการปล่อยกู้ให้ Supplier กว่า 4,000 ราย โดยสามารถอนุมัติได้มากขึ้น และรวดเร็ว และกว่าร้อยละ 70 ของ Supplier ยังไม่เคยเข้าถึง Soft Loan มาก่อน ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกรุงเทพ เข้าร่วมโครงการ Sand Box และหลังจากนี้ จะขยายผลไปยังสมาชิกของสมาคมฯ และธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ต่อไป คาดว่าจะมีจำนวน SMEs มากกว่า 100,000 ราย โดยเฉพาะ SMEs ขนาดเล็ก ที่จะเข้าถึง Soft Loan และ Factoring ในต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำ เพื่อเป็นแต้มต่อในการดำเนินธุรกิจ และเสริมสภาพคล่อง ขณะเดียวกันทางหอการค้า ได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย จัดทำระบบ e-Factoring โดยจะมีรวบรวมฐานข้อมูลกลาง และขั้นตอนการนำส่งข้อมูลของผู้ขายสินค้าจากห้างค้าปลีก ไว้ที่บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ เพื่อความสะดวกและลดความซ้ำซ้อน หาก Supplier เป็นลูกค้าหลายธนาคารและขอสินเชื่อผ่านทุกธนาคาร โดยธนาคารพาณิชย์จะช่วยพิจารณาคุณสมบัติของผู้ขายสินค้า และจัดกลุ่มเพื่อใช้เป็นแหล่งสินเชื่อ จากมาตรการฟื้นฟูผู้ประกอบการธุรกิจ (250,000 ล้านบาท) และสินเชื่อ Factoring ที่ทางภาครัฐได้มีการเตรียมไว้แล้ว โดยมีการทำแผนงานร่วมกันทั้งสถาบันทางการเงิน และ Modern Trade ใหญ่ๆ ให้การสนับสนุนให้ SMEs สามารถโอนสิทธิบัญชีลูกหนี้การค้าให้สถาบันทางการเงิน และทางห้างค้าปลีกที่เป็นผู้ซื้อสินค้า จะผ่อนคลายมาตรการข้อตกลงต่าง ๆ ให้กับผู้ขายที่มีประวัติที่ดีในการค้าขายระหว่างกัน เช่น ลด Disclaimers การชำระเงิน, การคืนของ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอที่ผู้ประกอบการค้าปลีกขอให้ธนาคารพาณิชย์และธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาเพิ่มเพื่อให้ SMEs ได้เข้าถึงสินเชื่อ Soft Loan และ Term Loan ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น
1. SMEs ที่ไม่ได้มีประวัติการซื้อขายเป็นประจำกับผู้ประกอบการค้าปลีก ทางธนาคารพาณิชย์ควรพิจารณานำยอดการซื้อขายจากผู้ประกอบการค้าปลีกรายอื่นๆ มารวมในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ Soft Loan ด้วย 2. ขอให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อทางเลือก เช่น Factoring และค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องให้มีอัตราใกล้เคียงกับ Soft Loan เพื่อเป็นทางเลือกให้กับ SMEs ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน 3. ขอให้ธนาคารพาณิชย์หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อพิจารณาปลดล็อค หรือผ่อนผันให้ SMEs ที่มียอดขายดี และสม่ำเสมอกับผู้ประกอบการค้าปลีกที่อาจจะติด Credit Bureau เช่น อยู่ในระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ หรือ NPL เพื่อให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งต้องมีการผ่อนผันเพิ่มขึ้นเพื่อให้สถานะทางการเงินของ SMEs ฟื้นตัวโดยเร็ว โดยมีข้อมูลสนับสนุนจากผู้ประกอบการค้าปลีกประกอบในการพิจารณาเป็นหลักประกัน และลดความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์
4. ขอให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการค้าปลีก เพื่อที่จะนำไปช่วยเหลือในการทำ Factoring โดยตรงกับ SMEs โดยหลังจากที่ภาคเอกชนเข้าไปสนับสนุนการกระจายวัคซีนแล้ว เรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยหอการค้าไทยพร้อมที่จะ Connect the Dots ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการช่วย SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยร่วมกันต่อไป . – สำนักข่าวไทย