กรุงเทพฯ 17พ.ค.-พีกไฟฟ้าของประเทศ เกิดเกือบเที่ยงคืน หลังเกิดโควิด-19 และพลังงานทดแทนแจ้งเกิดมาก โรงงานปรับตัวใช้ค่าไฟถูก ก.พลังงานศึกษาแผนใหม่ทั้งระบบ เบื้องต้นจุฬาฯศึกษาสำรองไฟฟ้าของประเทศอาจต้องเพิ่มเป็นร้อยละ 32
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เปิดเผยว่า ในขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังเตรียมทำแผนพลังงานชาติฉบับใหม่ ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงทั้งพลังงานทดแทน ระบบสำรองไฟฟ้า ซึ่งล่าสุด การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้รายงานตัวเลขการใช้ไฟฟ้าสูงสุดระหว่างวันหรือพีก ว่า ได้เกิดขึ้นเกือบช่วงเที่ยงคืนซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการปรับตัวช่วงโควิด19ที่โรงงานบริหารงานลดต้นทุนมาผลิตช่วงค่าไฟฟ้าราคาถูกตามหลักการทีโอยู ประกอบกับอาคารสำนักงานมีการใช้ไฟฟ้าน้อยลงจากโครงการทำงานที่บ้าน โดยเดิมนั้นพีกไฟฟ้าจะเกิดช่วงกลางวัน แต่ระยะต่อมาเกิดช่วงหัวค่ำ และล่าสุด เกิดเกือบเที่ยงคืน
ส่วนเรื่องสำรองไฟฟ้าที่สูงเกือบร้อยละ 40 จากเกณฑ์ที่เหมาะสมของประเทศที่ร้อยละ15 คณะทำงานศึกษา สำรองศึกษาพบว่าไม่ได้สร้างภาระกับต้นทุนแต่อย่างใดเพราะค่าไฟฟ้าได้บวกเข้ามาตั้งแต่เริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าแล้ว และการปลดโรงไฟฟ้าต่างๆให้หมดก่อนสัญญานั้นเป็นเรื่องไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ทางคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานหรือ กบง.ซึ่งมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รมว.พลังงาน จึงสั่งให้กระทรวงพลังงานร่วมชี้แจงทำความเข้าใจประชาชนต่อไป รวมถึงให้ศึกษาเรื่องสำรองที่สูงก็เป็นเรื่องจำเป็นรองรับพลังงานทดแทนที่เข้าระบบมาสูงขึ้น เพื่อให้ไฟฟ้ามีเสถียรภาพ ในการบริการประชาชนและสังคม ซึ่งในต่างประเทศในขณะนี้ได้ปรับสำรองไฟฟ้าของประเทศสูงขึ้นมากรองรับพลังงานทดแทน เช่น เยอรมัน เป็นต้น
“พีกที่เปลี่ยนเวลาเป็นเกือบเที่ยงคืน ประกอบกับพลังงานทดแทนเข้าระบบ เช่น โซลาร์เซลล์ก็ทำให้พีกเปลี่ยนเวลา ดังนั้น สำรองไฟฟ้าแบบเดิม ร้อยละ15อาจไม่เหมาะสม ซึ่งจุฬาฯศึกษาว่าควรอยู่ที่ร้อยละ 30 ซึ่งเรื่องนี้ สนพ.จะนำมาประกอบทำแผนไฟฟ้าต่อไป” ผอ.สนพ.ระบุ
สำหรับความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดของระบบในปี 64 เกิดขึ้นเดือนเมษายนเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 3 เมษายน เวลา 21.03 น. มีค่าเท่ากับ 30,135.30 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา 598.50 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.03 โดยพีกของประเทศเกิดขึ้นก่อนโควิด -19ที่30,853.20 เมกะวัตต์ (+ร้อยละ8.88) เมื่อปี 62 ก่อนลดลงเหลือ 30,135.30 เมกะวัตต์ ปี 63
นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า สนพ. เคยว่าจ้างสถาบันวิจัยพลังงานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี 2561 มาพิจารณาประกอบการจัดทำแผนไฟฟ้า( PDP) ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวได้มีการศึกษาเปรียบเทียบเกณฑ์ Reserve Margin/LOLE(สำรองไฟฟ้า/อัตราโอกาสการเกิดไฟดับที่เหมาะสม) ของต่างประเทศ ซึ่งพบว่าในสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) กำหนด LOLE ในระดับไม่เกิน 0.3 วัน/ปี (ประมาณ 7 ชั่วโมง/ปี) และในหลายๆ รัฐของสหรัฐอเมริกา กำหนด LOLE ในระดับไม่เกิน 0.1 วัน/ปี (ประมาณ 2.4 ชั่วโมง/ปี)
ทั้งนี้ ในผลการศึกษาเสนอแนะเกณฑ์ LOLE ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยภายใต้สถานการณ์การผลิตและการใช้ไฟฟ้าในช่วงที่มีการศึกษาในระดับไม่เกิน 0.7 วัน/ปี (ประมาณ 17 ชั่วโมง/ปี) โดยเมื่อแปลงเป็นค่า Reserve Margin พบว่าไม่ควรต่ำกว่าร้อยละ 32.36 อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการนำผลการศึกษา ดังกล่าวมาพิจารณา/ทบทวน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การผลิตและการใช้ไฟฟ้าทั้งในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต
ทั้งนี้ กบง. 14พ.ค.64 รับทราบ แนวทางการบริหารจัดการกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) ของประเทศ ตามข้อเสนอของ คณะทำงานบริหารจัดการกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศ และได้มอบหมายให้ สนพ.สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และ กฟผ. ร่วมกันพิจารณาทบทวนสมมติฐานการกำหนดค่ากำลังผลิตพึ่งได้ (Dependable Capacity) ของโรงไฟฟ้าของ กฟผ. และพิจารณาทบทวนเกณฑ์ Reserve Margin โดยพิจารณาจากโอกาสเกิดไฟฟ้าดับที่เหมาะสมในภาพรวมทั้งประเทศและแยกตามรายพื้นที่ และมอบหมายให้ สำนักงาน กกพ. พิจารณาออกแบบสัญญาในการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนให้เหมาะสมกับโรงไฟฟ้าแต่ละประเภทและการรับซื้อไฟฟ้าจริงของระบบ รวมถึง ปรับปรุงกฎระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มีความเหมาะสมและยืดหยุ่น สอดคล้องกับเทคโนโลยี นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้ สนพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ฉบับใหม่ โดยให้คำนึงถึงการวางแผนจัดหาโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้ารายภูมิภาค การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าในช่วงความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ให้กระจายออกไปในช่วงอื่น ๆ ของวัน เพื่อลดการจัดหา/สร้างโรงไฟฟ้า การวางแผนและดำเนินการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้สามารถรองรับพลังงานทดแทนที่จะเข้ามาในระบบไฟฟ้ามากขึ้นในอนาคต เป็นต้น . – สำนักข่าวไทย